top of page
Tropical Leaves

ทีมจิตแพทย์และจิตบำบัด

The Oasis ก่อตั้งโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายวิชาชีพ ผู้ให้ความสำคัญกับแนวคิด ‘4 เสาหลักของสุขภาพ’ ได้แก่ กาย ใจ ครอบครัว และจิตวิญญาณ

DSC06060%20copy_edited.png
Nicha Leehacharoenkul

ณิชา หลีหเจริญกุล

นักศิลปะบำบัด

(Art Psychotherapist)

 

เมื่อถูกตั้งคำถามในวัยเด็กว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำตอบยอดนิยมของเด็กๆ คงไม่ใช่นักศิลปะบำบัด อาชีพที่น้อยคนจะรู้จักและเข้าใจ เส้นทางกว่าจะมาถึงวันที่ ณิชา หลีหเจริญกุล หรือเฟย เลือกใช้ความสามารถทางศิลปะมาช่วยประคับประคองความทุกข์ในใจผู้คน จึงเป็นการเดินทางที่ผ่านวันเวลายาวนานและการเรียนรู้มามากมาย


จากอดีตเด็กสายศิลป์คำนวณ เฟยค้นพบความสนุกในกิจกรรมละครที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากการได้วิเคราะห์ตัวละครที่เธอชื่นชอบ เฟยยังกระหายใคร่รู้อยากทำความรู้จักและเข้าใจมนุษย์มากขึ้น จึงเลือกเรียนวิชาโทเกี่ยวกับจิตวิทยาไปพร้อมกัน และแม้ในเวลาต่อมา เส้นทางชีวิตจะเบี่ยงให้เฟยออกไปทำงานนิตยสารเป็นเวลา 2-3 ปี ครั้นเมื่อได้เข้ามาทำงานกับเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื่อเอชไอวีและครอบครัวในฐานะผู้ช่วยวิจัยและผู้ช่วยผู้นำกระบวนการละครเป็นเวลานานกว่า 7 ปี เฟยก็ได้มองเห็นปัญหาความทุกข์ใจและการถูกตีตราของผู้มีเชื้อเอชไอวี ทั้งยังเริ่มสนใจงานด้านสุขภาพจิตและการทำความเข้าใจจิตใจอย่างจริงจัง จนตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด


แต่เส้นทางการเรียนรู้ด้านจิตวิทยาของเฟยไม่ได้จบลงแค่นั้น เมื่อได้เข้าไปช่วยกลุ่มละครบำบัด (Drama therapy) กับรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ทำให้เฟยสนใจและอยากเรียนต่อเฉพาะเจาะจงด้านจิตบำบัด ประจวบเหมาะกับโอกาสที่ได้รับทุนจาก The Red Pencil Humanitarian Mission ไปเรียนด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of the Arts ประเทศสิงคโปร์ ที่นั่นเองที่เฟยพบว่า ศิลปะบำบัด คือสิ่งที่ใช่สำหรับเธอ ด้วยพื้นฐานชีวิตที่อยากรู้ถึงความซับซ้อนของจิตใจผู้คน งานที่เปิดพื้นที่ให้เธอได้รับฟัง ทำความเข้าใจเรื่องราว และได้ช่วยเหลือคนอื่น จึงสอดคล้องกับความสนใจที่มีมาแต่เด็กเป็นอย่างดี

 
นับตั้งแต่ปี 2559 เฟยกลับมาเริ่มเส้นทางนักศิลปะบำบัดในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง การทำงานนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้หลายด้านของชีวิต และมองว่า “ชีวิตนั้นเป็นสิ่งสวยงาม แม้จะมีความทุกข์ยากหรือความลำบากเข้ามา ต้องผ่านการต่อสู้ดิ้นรนต่าง ๆ นานา แต่สุดท้ายแล้วแต่ละชีวิตก็มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง” เมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้รับบริการที่ดูแลรักษา เธอจึงรู้สึกประทับใจและอิ่มเอมใจอยู่เสมอ

 
“ความประทับใจในการทำงานนี้อาจเป็นเพียง ช่วงเวลาเล็ก ๆ ในใจ ที่ได้เห็นว่า เขามีการเปลี่ยนแปลง เช่น จากที่ไม่กล้าตัดสินใจ ก็ทำได้ หรือกล้าทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ แค่นี้เราก็เป็นสุขแล้ว” เฟยขยายความ


เมื่อพบงานที่ใช่ เฟยตั้งใจจะเป็นนักจิตบำบัดบนพื้นฐานความเชื่อว่า คุณสมบัตินักจิตบำบัดที่ดีคือการเป็นผู้ฟังที่ดี เห็นใจ ไม่ตัดสิน เป็นผู้ที่คอยกระตุ้นหรือให้กำลังใจให้ผู้รับบริการได้ตระหนักรู้และเข้าใจตนเอง จนมองเห็นทางเลือกในการตัดสินใจให้ชีวิตตนเองได้ และที่สำคัญคือ ‘สามารถอยู่กับข้อจำกัดและความท้าทายได้มากขึ้น’


 “ในการทำงาน เมื่อเราเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเองกำลังอยู่กับความไม่รู้ แม้มันอาจจะสั่นคลอนหรือน่ากลัวในความรู้สึก แต่มันก็เปิดโอกาสให้ได้คิด ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ทั้งยังระมัดระวังและคอยพัฒนาตัวเอง” เฟยกล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า แม้งานจิตบำบัดจะเป็นงานที่ต้องฟังคนอื่นเป็นหลัก แต่บางครั้งก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจาก Supervisor ที่เธอสามารถปรึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดได้อย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยให้การทำงานค่อย ๆ ปรับปรุงและพัฒนาขึ้น

 
ในการทำงานทุกวันนี้ เฟยมีประโยคสำคัญของชีวิตในฐานะนักจิตบำบัดที่ท่องไว้ในใจเสมอ ถ้อยคำนี้เฟยจำมาจากจิตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Irvin D. Yalom, MD ได้กล่าวไว้ และเป็นประโยคที่ช่วยให้เธอยังคงเก็บรักษาความหวังในการเดินทางไปด้วยกันกับผู้รับบริการต่อไป นั่นคือ “A good therapist seeks illuminations, I’m a guide on this voyage of self-exploration.”

Nicha Leehacharoenkul, AThR

Education

  • MA. Art Therapy, LASALLE College of the Arts, Singapore

  • M.Sc. Mental Health, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Thailand

  • BFA. (Drama), Fine and Applied Arts, Thammasat University, Thailand

 

Professional Association

  • Registered Arts Therapist (AThR), a professional member of The Australian, New Zealand and Asian Creative Arts Therapies Association (ANZACATA)

bottom of page