top of page
The Oasis ( เดอะโอเอซิส )
Tropical Leaves

ทีมจิตแพทย์และจิตบำบัด

The Oasis ก่อตั้งโดยทีมจิตแพทย์และจิตบำบัด ณิชา หลีหเจริญกุล
ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายวิชาชีพ ผู้ให้ความสำคัญกับแนวคิด ‘4 เสาหลักของสุขภาพ’ ได้แก่ กาย ใจ ครอบครัว และจิตวิญญาณ

นักศิลปะบำบัด ณิชา, Art Therapy Session with  ณิชา
Nicha Leehacharoenkul

ณิชา หลีหเจริญกุล

นักศิลปะบำบัด

(Art Psychotherapist)

 

เมื่อถูกตั้งคำถามในวัยเด็กว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำตอบยอดนิยมของเด็กๆ คงไม่ใช่นักศิลปะบำบัด อาชีพที่น้อยคนจะรู้จักและเข้าใจ เส้นทางกว่าจะมาถึงวันที่ ณิชา หลีหเจริญกุล หรือเฟย เลือกใช้ความสามารถทางศิลปะมาช่วยประคับประคองความทุกข์ในใจผู้คน จึงเป็นการเดินทางที่ผ่านวันเวลายาวนานและการเรียนรู้มามากมาย


จากอดีตเด็กสายศิลป์คำนวณ เฟยค้นพบความสนุกในกิจกรรมละครที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากการได้วิเคราะห์ตัวละครที่เธอชื่นชอบ เฟยยังกระหายใคร่รู้อยากทำความรู้จักและเข้าใจมนุษย์มากขึ้น จึงเลือกเรียนวิชาโทเกี่ยวกับจิตวิทยาไปพร้อมกัน และแม้ในเวลาต่อมา เส้นทางชีวิตจะเบี่ยงให้เฟยออกไปทำงานนิตยสารเป็นเวลา 2-3 ปี ครั้นเมื่อได้เข้ามาทำงานกับเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื่อเอชไอวีและครอบครัวในฐานะผู้ช่วยวิจัยและผู้ช่วยผู้นำกระบวนการละครเป็นเวลานานกว่า 7 ปี เฟยก็ได้มองเห็นปัญหาความทุกข์ใจและการถูกตีตราของผู้มีเชื้อเอชไอวี ทั้งยังเริ่มสนใจงานด้านสุขภาพจิตและการทำความเข้าใจจิตใจอย่างจริงจัง จนตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด


แต่เส้นทางการเรียนรู้ด้านจิตวิทยาของเฟยไม่ได้จบลงแค่นั้น เมื่อได้เข้าไปช่วยกลุ่มละครบำบัด (Drama therapy) กับรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ทำให้เฟยสนใจและอยากเรียนต่อเฉพาะเจาะจงด้านจิตบำบัด ประจวบเหมาะกับโอกาสที่ได้รับทุนจาก The Red Pencil Humanitarian Mission ไปเรียนด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of the Arts ประเทศสิงคโปร์ ที่นั่นเองที่เฟยพบว่า ศิลปะบำบัด คือสิ่งที่ใช่สำหรับเธอ ด้วยพื้นฐานชีวิตที่อยากรู้ถึงความซับซ้อนของจิตใจผู้คน งานที่เปิดพื้นที่ให้เธอได้รับฟัง ทำความเข้าใจเรื่องราว และได้ช่วยเหลือคนอื่น จึงสอดคล้องกับความสนใจที่มีมาแต่เด็กเป็นอย่างดี

 
นับตั้งแต่ปี 2559 เฟยกลับมาเริ่มเส้นทางนักศิลปะบำบัดในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง การทำงานนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้หลายด้านของชีวิต และมองว่า “ชีวิตนั้นเป็นสิ่งสวยงาม แม้จะมีความทุกข์ยากหรือความลำบากเข้ามา ต้องผ่านการต่อสู้ดิ้นรนต่าง ๆ นานา แต่สุดท้ายแล้วแต่ละชีวิตก็มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง” เมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้รับบริการที่ดูแลรักษา เธอจึงรู้สึกประทับใจและอิ่มเอมใจอยู่เสมอ

 
“ความประทับใจในการทำงานนี้อาจเป็นเพียง ช่วงเวลาเล็ก ๆ ในใจ ที่ได้เห็นว่า เขามีการเปลี่ยนแปลง เช่น จากที่ไม่กล้าตัดสินใจ ก็ทำได้ หรือกล้าทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ แค่นี้เราก็เป็นสุขแล้ว” เฟยขยายความ


เมื่อพบงานที่ใช่ เฟยตั้งใจจะเป็นนักจิตบำบัดบนพื้นฐานความเชื่อว่า คุณสมบัตินักจิตบำบัด หรือ นักศิลปะบำยัด ที่ดีคือการเป็นผู้ฟังที่ดี เห็นใจ ไม่ตัดสิน เป็นผู้ที่คอยกระตุ้นหรือให้กำลังใจให้ผู้รับบริการได้ตระหนักรู้และเข้าใจตนเอง จนมองเห็นทางเลือกในการตัดสินใจให้ชีวิตตนเองได้ และที่สำคัญคือ ‘สามารถอยู่กับข้อจำกัดและความท้าทายได้มากขึ้น’


 “ในการทำงาน เมื่อเราเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเองกำลังอยู่กับความไม่รู้ แม้มันอาจจะสั่นคลอนหรือน่ากลัวในความรู้สึก แต่มันก็เปิดโอกาสให้ได้คิด ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ทั้งยังระมัดระวังและคอยพัฒนาตัวเอง” เฟยกล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า แม้งานจิตบำบัดจะเป็นงานที่ต้องฟังคนอื่นเป็นหลัก แต่บางครั้งก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจาก Supervisor ที่เธอสามารถปรึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดได้อย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยให้การทำงานค่อย ๆ ปรับปรุงและพัฒนาขึ้น

 
ในการทำงานทุกวันนี้ เฟยมีประโยคสำคัญของชีวิตในฐานะนักจิตบำบัดที่ท่องไว้ในใจเสมอ ถ้อยคำนี้เฟยจำมาจากจิตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Irvin D. Yalom, MD ได้กล่าวไว้ และเป็นประโยคที่ช่วยให้เธอยังคงเก็บรักษาความหวังในการเดินทางไปด้วยกันกับผู้รับบริการต่อไป นั่นคือ “A good therapist seeks illuminations, I’m a guide on this voyage of self-exploration.”

ประวัติการศึกษาและวิชาชีพ

Nicha Leehacharoenkul, AThR

Education

  • MA. Art Therapy, LASALLE College of the Arts, Singapore

  • M.Sc. Mental Health, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Thailand

  • BFA. (Drama), Fine and Applied Arts, Thammasat University, Thailand

 

Professional Association

  • Registered Arts Therapist (AThR), a professional member of The Australian, New Zealand and Asian Creative Arts Therapies Association (ANZACATA)

บทบาทของศิลปะในกระบวนการเยียวยา

ศิลปะไม่เพียงเป็นการแสดงออก แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนในการทบทวนตนเอง สะท้อนอารมณ์ และสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน ผู้รับบริการสามารถใช้ศิลปะเพื่อสำรวจความรู้สึก ความทรงจำ และความหวัง โดยไม่ต้องกลัวการตัดสิน

 

ตัวอย่างกิจกรรมศิลปะบำบัด

  • การวาดภาพ “ตัวฉันในวันนี้” และ “ตัวฉันในอุดมคติ”

  • การระบายสีตามอารมณ์ ณ ขณะนั้น

  • การปั้นดินเหนียวเพื่อสื่อสารอารมณ์ที่อธิบายไม่ได้

  • การเขียนจดหมายถึงตัวเองในอดีต

  • การใช้สื่อผสม (Mixed Media) เพื่อเล่าเรื่องชีวิตแบบไม่ใช้คำพูด

นัดหมายกับ "ณิชา หลีหเจริญกุล" นักศิลปะบำบัด

หากคุณกำลังเผชิญความเครียด วิตกกังวล หรืออยากเริ่มต้นดูแลสุขภาพใจผ่านกระบวนการศิลปะ ณิชา พร้อมดูแลคุณด้วยศิลปะบำบัดในบรรยากาศที่ปลอดภัย และไม่ต้องวาดรูปเป็นก็เริ่มได้ ให้บริการที่ The Oasis คลินิกจิตเวช กรุงเทพ

oasis2.png
oasis1.png
bottom of page