top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

ครั้งแรกกับการหานักจิตบำบัด

อัปเดตเมื่อ 12 ส.ค. 2564


การตัดสินใจเข้าพบนักจิตบำบัดไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนมีความกังวลค่อนข้างสูงเพราะนี่อาจเป็นครั้งแรกที่ได้เปิดเผยกับใครสักคนถึงสิ่งรบกวนจิตใจ ซึ่งมักจะทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนไหวตามมา บทความนี้ จะอธิบายถึงกระบวนการทำจิตบำบัด ตลอดจนการเตรียมตัวและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการพบกันครั้งแรก เพื่อลดความกังวล และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้ารับความช่วยเหลือ

  • การหานักจิตบำบัดไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือการแสดงความอ่อนแอ

  • จุดสังเกตที่ชี้ว่าน่าจะถึงเวลาทำนัดแล้ว คือเมื่อเราหรือคนรอบตัวเราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ด้านความรู้สึก ด้านความคิด หรือด้านพฤติกรรม

  • ครั้งแรกของการเจอนักจิตบำบัด จะเป็นการทำความเข้าใจประเด็นที่นำมาปรึกษา การประเมินระดับความรบกวนต่อการใช้ชีวิต และการวางแผนการทำจิตบำบัดร่วมกัน

  • การทำงานกับจิตใจเพื่อเปลี่ยนแปลงความทรงจำหรือวงจรความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม จำเป็นต้องผ่านช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกต่างๆ ที่เราพยายามจะไม่รับรู้หรือกดทับเอาไว้

  • สำหรับบางคนการทำจิตบำบัดอาจช่วยให้ความทรงจำที่เคยรบกวนไม่กลับมารบกวนจิตใจได้อีก

สิ่งหนึ่งที่นักจิตบำบัดได้เรียนรู้เป็นอันดับต้นๆ คือการที่คนๆ หนึ่งจะพาตัวเองเข้ามานั่งอยู่ในห้องบำบัดได้นั้น แสดงว่าเขากำลังอยู่ในภาวะที่อ่อนไหวทางจิตใจค่อนข้างมากแม้ภายนอกอาจมีใบหน้าหรือท่าทีที่เรียบเฉยก็ตาม ทั้งนี้เพราะการเข้าสู่กระบวนการทำจิตบำบัด มักจะไม่ใช่คำตอบแรกของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีทางเลือกอื่นมากมายในการปรับทุกข์ เช่น คุยกับเพื่อน โทรหาแฟน ปรึกษาผู้ใหญ่ที่เคารพ หรือหาที่พึ่งพิงทางใจในรูปแบบต่างๆ เท่าที่จะหาได้ ซึ่งบางครั้งก็สามารถช่วยให้ผ่านพ้นไปได้


แต่มีความทุกข์บางประเภทที่ไม่ว่าจะพยายามด้วยวิธีไหนก็ไม่ดีขึ้น ตรงกันข้าม ยิ่งพยายามจัดการกับมันเท่าไรก็ยิ่งรู้สึกจมลึกมากกว่าเดิม หรือบางครั้งไม่ได้พยายามจะจัดการกับมัน ก็ยังรู้สึกทุกข์กับเรื่องเดิมซ้ำๆ จนหาทางออกไม่ได้ เมื่อวนอยู่ในวงจรเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็อาจเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ จนไม่อยากพยายามอีกต่อไป คำถามที่มักจะได้ยินจากผู้เข้ารับการบำบัด คือ แล้วจะทำอย่างไรดี...

เมื่อไรถึงน่าจะหานักจิตบำบัด


การหานักจิตบำบัดไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือการแสดงความอ่อนแอ ตรงกันข้ามการยอมรับว่าต้องการความช่วยเหลือถือเป็นจุดแข็ง เพราะเป็นการตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังต้องการอะไร การเห็นว่าตัวเองกำลังติดอยู่กับวงจรความทุกข์เดิมๆ เป็นจุดเริ่มต้นของทางออก เมื่อเห็นวงจรของความทุกข์ก็เท่ากับว่าเรามีทางเลือกมากกว่าตอนที่ยังมองไม่เห็น โดยทั่วไป การเข้าสู่กระบวนการปรึกษาทางจิตวิทยาหรือจิตบำบัดมักจะมีอยู่สามแบบ (อาจมีมากกว่านี้) แบบแรกคือ จากการที่เราเริ่มรับรู้ว่าสภาพจิตใจเริ่มไม่ค่อยจะดี แล้วตัดสินใจหาตัวช่วยทันที แบบที่สอง จากการสังเกตเห็นวงจรเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ แล้วอยากทำอะไรเพื่อออกจากวงจรเหล่านั้น หรือแบบที่สาม จากการที่คนในครอบครัว แฟน หรือเพื่อนสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเราแล้วแนะนำให้ลองปรึกษาผู้เชียวชาญได้แล้ว


ไม่ว่าแบบไหนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่กระบวนการปรึกษา จุดสังเกตที่ชี้ว่าน่าจะถึงเวลาทำนัดแล้ว คือเมื่อเราหรือคนรอบตัวเราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้สึก เช่น รู้สึกเครียด กังวล เบื่อหน่ายหรือหดหู่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน รู้สึกไม่มั่นใจที่จะพบปะผู้คนใหม่ๆ รู้สึกผิดหวังซ้ำๆ ในความสัมพันธ์ รู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่นหรือไม่ไว้ใจใคร ด้านความคิด เช่น คิดลบต่อตัวเองหรือคนรอบตัว ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองแต่ทำไม่ได้สักที และด้านพฤติกรรม เช่น เก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่อยากออกไปไหนหรือคุยกับใคร นอนไม่หลับหรือฝันร้ายซ้ำๆ ใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอลต่อเนื่อง ใช้จ่ายเงินเกินความจำเป็น หรือโมโห ระเบิดอารมณ์จนไม่มีใครอยากเข้าใกล้ วงจรของความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เหล่านี้ มักเป็นสัญญาณเตือนว่าสภาพจิตใจกำลังขาดความสมดุล และอาจถึงเวลาแล้วที่จะลองปรึกษานักจิตบำบัดในเบื้องต้นเพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาต่อไป


รักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันทุกข์ซับซ้อนที่ตามมา


ความทุกข์หรือความเจ็บปวดทางใจมักจะมองเห็นและรับรู้ได้ยากกว่าความทุกข์หรือความเจ็บปวดทางกาย บ่อยครั้งที่กว่าเราจะรู้ว่าจิตใจของเราบาดเจ็บหรือเป็นทุกข์ก็กลายเป็นแผลฉกรรจ์ที่อักเสบรุนแรงอยู่ภายในเสียแล้ว ความเจ็บปวดหรือความทุกข์ใจในระดับนี้มักปฏิเสธได้ยาก เพราะรบกวนการใช้ชีวิตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การเรียน การจัดการชีวิตส่วนตัว การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือแม้แต่การทำกิจกรรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ก็อาจทำได้ยากหรือแทบไม่อยากทำเมื่อจิตใจเต็มไปด้วยความทุกข์หรือความเจ็บปวด


เมื่อมีบาดแผลหรือความทุกข์เกิดขึ้นในใจ ทางเลือกย่อมเกิดขึ้นเมื่อเรารับรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกทุกข์หรือเจ็บปวด หากเลือกที่จะไม่ทำอะไรก็ถือว่าเป็นการเลือกเหมือนกัน คือเลือกที่จะอยู่กับความทุกข์และความเจ็บปวดนั้นต่อไป และเมื่อการเข้าสู่กระบวนการบำบัดเป็นคำตอบสุดท้าย​ (หรือเกือบสุดท้าย) นั่นหมายความว่า สภาพจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัดมักจะมีบาดแผลที่ค่อนข้างฉกรรจ์แล้ว กระบวนการเยียวยาจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น


การเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการปรึกษาทางจิตวิทยาหรือจิตบำบัด


การทำจิตบำบัดเป็นกระบวนการที่อาศัยข้อมูลและความร่วมมือจากผู้เข้ารับการบำบัดค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากภายในจิตใจ มากกว่าการรักษาตามอาการ เนื่องจากการทำงานกับจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น กระบวนการจึงมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปและปลอดภัยต่อผู้เข้ารับการบำบัด แม้ว่าความร่วมมือในกระบวนการอาจมีความพร้อมไม่เหมือนกันทุกคนในช่วงเริ่มต้นของการทำจิตบำบัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ตัดสินใจเข้ารับการบำบัดด้วยตัวเอง ความร่วมมือที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง หรือความพร้อมในการทำความเข้าใจความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตัวเอง ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้การทำจิตบำบัดนำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้


สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเจอนักจิตบำบัดครั้งแรก คือนักจิตบำบัดจะมี การสอบถามถึงประเด็นที่อยากได้รับการช่วยเหลือหรือปัญหาที่รบกวนจิตใจจนทำให้ตัดสินใจทำนัดกับนักจิตบำบัด ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าประเด็นปัญหามีที่มาที่ไปอย่างไร และประเมินระดับความรบกวนจิตใจ เพื่อวางแผนการใช้ชั่วโมงการบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น นักจิตบำบัดอาจสอบถามประวัติการรักษาทางจิตวิทยาหรือจิตเวช ประวัติครอบครัวและความสัมพันธ์ใกล้ชิด ประวัติการศึกษา การทำงาน และการใช้สารเสพติด ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการบำบัดในครั้งต่อๆ ไป


จะเห็นได้ว่า ครั้งแรกของการเจอนักจิตบำบัด จะเป็นการทำความเข้าใจประเด็นที่นำมาปรึกษา การประเมินระดับความรบกวนต่อการใช้ชีวิต การวางแผนการทำจิตบำบัดร่วมกัน และการอธิบายถึงกระบวนการหรือวิธิการคร่าวๆ หากมีความจำเป็นที่ควรใช้ยาเพื่อลดหรือควบคุมอาการ นักจิตบำบัดก็จะเสนอให้พบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและปรึกษาเรื่องยาต่อไป ในบางกรณี ที่ผู้เข้ารับการบำบัดมีประเด็นฉุกเฉิน เช่น มีแผลจากการทำร้ายร่างกาย มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย หรืออยู่ในภาวะวิกฤติทางจิตใจ กระบวนการบำบัดจะมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยและบรรเทาอาการก่อน เมื่อผ่านพ้นระยะวิกฤติไปแล้ว จึงค่อยเข้าสู่กระบวนการจิตบำบัดดังที่กล่าวไว้ข้างต้นต่อไป


ครั้งเดียวไม่ได้เหรอ...ทำไมต้องใช้เวลานาน


คำถามที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ ต้องมาหานักบำบัดกี่ครั้ง และเมื่อไรจะหาย ซึ่งคำตอบก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เนื่องจากสิ่งที่รบกวนจิตใจจนนำมาสู่การทำจิตบำบัดมักมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยที่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง (neuroplasticity) และปัจจัยนอกห้องบำบัด เช่น ความเป็นอยู่และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว แม้ว่าการทำจิตบำบัดจะเน้นที่การทำงานภายในจิตใจกับตัวเอง แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในจนสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกได้นั้นจำเป็นต้องใช้ปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่าเวลา นั่นคือ ความพยายามที่จะสังเกตและฝึกฝนตัวเองให้มีการรับมือที่แตกต่างไปจากการโต้ตอบหรือปฏิสัมพันธ์แบบเดิมๆ นอกจากนี้ การทำงานกับจิตใจเพื่อเปลี่ยนแปลงความทรงจำหรือวงจรความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม จำเป็นต้องผ่านช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกต่างๆ ที่เราพยายามจะไม่รับรู้หรือกดทับเอาไว้ คล้ายๆ กับเป็นการจัดระเบียบใหม่ให้กับความทรงจำ เพื่อช่วยให้ในท้ายที่สุดแล้ว ความรู้สึกนั้นจะไม่กลับมารบกวนใจอีกต่อไป


เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ลองเปรียบกระบวนการทำงานกับจิตใจเป็นการจัดระเบียบบ้านตัวเอง บ้านที่อยู่มาหลายปี มีร่องรอยของการใช้งาน และความไม่สะอาดเรียบร้อยจากการอยู่อาศัย หากไม่มีการจัดระเบียบมาก่อนเลย การเริ่มต้นจัดบ้านย่อมต้องการแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง การรับรู้และยอมรับว่าบ้านไม่สะอาดหรือไม่เป็นระเบียบ คือจุดเริ่มต้นของทางออกที่จะทำให้บ้านสะอาดและเป็นระเบียบ จากนั้นอาจมีการวางแผนว่าจะเริ่มจัดหรือทำความสะอาดจากห้องไหนก่อน กว่าจะเริ่มทำความสะอาดได้ อาจต้องใช้พลังและความตั้งใจมหาศาล แต่เมื่อได้เริ่มจัดแล้ว เรามักจะเห็นความรกหรือความสกปรกเพิ่มขึ้นตามมา โดยมีช่วงที่ข้าวของวางกองเกะกะอยู่เต็มไปหมด จนอาจรู้สึกท้อใจและเกิดคำถามว่า จะมีวันจัดหมดหรือไม่ หรือจะจัดเสร็จเมื่อไหร่ แต่ถ้าเรายังไปต่อในกระบวนการจัดระเบียบ ในที่สุดแล้ว ช่วงเวลาที่ข้าวของกระจายเต็มห้อง จะค่อยๆ ผ่านพ้นไป จนได้บ้านที่เป็นระเบียบและสะอาดตากลับมาอยู่คู่กับเราต่อไปอีกระยะหนึ่ง


การทำงานกับจิตใจอาจแตกต่างจากการจัดระเบียบบ้านตรงเรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เมื่อความทรงจำได้รับการจัดระเบียบใหม่แล้ว การกลับมารบกวนของความทรงจำอาจเกิดขึ้นได้อีก แต่จะไม่รุนแรงหรือยาวนานเท่ากับตอนที่ยังไม่ได้จัดระเบียบ สำหรับบางคนการทำจิตบำบัดอาจช่วยให้ความทรงจำที่เคยรบกวนไม่กลับมารบกวนจิตใจได้อีก ทั้งนี้ การหมั่นใส่ใจดูแลสภาวะจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความสมดุลขึ้นภายในและเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การดูแลให้สภาพจิตใจมีความสมดุลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากระบวนการทำจิตบำบัดจะสิ้นสุดลงแล้วยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับการดูแลบ้าน ที่จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบและทำความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นสถานที่ๆ น่าอยู่อาศัยได้ได้ตราบนานเท่านาน


สนใจอ่านเพิ่มเติม

Solomon, M., & Siegel, D. J. (Eds.). (2017). How people change: Relationship and neuroplasticity in psychotherapy. W. W. Norton & Company.



ดู 1,585 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page