รู้จัก ศิลปะบำบัด (Art Therapy) ที่ไม่ใช่แค่เรื่องวาดรูป
อัปเดตเมื่อ 22 พ.ค. 2564

การให้คำนิยามของ “ ศิลปะบำบัด ” เป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายหากเราเน้นความหมายที่คำว่าศิลปะเพียงอย่างเดียว เพราะความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ต่อคำว่าศิลปะนั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย บางคนมองว่าศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก เข้าใจยาก เพราะไม่มีกรอบอะไรตายตัวในการตีความหรืออธิบาย ยิ่งถ้าพูดถึงผลงานของศิลปินระดับปรมจารย์ทั้งในและต่างประเทศด้วยแล้ว ศิลปะยิ่งเป็นเรื่อง ที่ไกลตัวหรือสูงเกินความเข้าใจของคนทั่วไป
หากมองใกล้เข้ามาอีกหน่อย ศิลปะมักจะถูกมองว่าเป็น กิจกรรมในอดีตที่เริ่มจากการเรียนวิชาศิลปะในโรงเรียน หรือจากการขีดๆ เขียนๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในบ้าน หากผลงานได้รับคำชมก็เกิดประสบการณ์ที่ดีต่อศิลปะ แต่หากประสบการณ์แรกเต็มไปด้วยความทรงจำที่ไม่ค่อยดี พอโตขึ้นเป็นวัยรุ่น ศิลปะก็อาจเป็นอะไรที่หลายคนพยามายามหลีกเลี่ยง ซึ่งประสบการณ์ในวัยเด็กต่อวิชาศิลปะนี่เอง ที่หล่อหลอมทัศนคติและความรู้สึกต่อศิลปะในวันที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ศิลปะบำบัดแบบเน้นกิจกรรม
การเน้นที่คำว่าศิลปะเพียงอย่างเดียว จึงทำให้คำนิยามของศิลปะบำบัดมีความคลาดเคลื่อน บ่อยครั้งที่ศิลปะบำบัดมักจะถูกนำไปใช้ในเชิงกิจกรรมเฉพาะกิจหรือกิจกรรมระยะสั้น เพื่อตอบโจทย์ที่ผู้จัดได้วางไว้ เช่น เพื่อผ่อนคลาย แก้เครียด หรือเพื่อเอาผลงานกลับบ้าน
การใช้ศิลปะบำบัดเชิงกิจกรรมเหล่านี้เป็นการใช้ศิลปะที่เน้นผลงานและความรู้สึกด้านบวก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการทำกิจกรรมศิลปะทั่วไป ปัจจัยที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกใกล้เคียงกับการบำบัด เกิดขึ้นจากความรู้สึกได้รับการสนับสนุนหรือตอบรับเชิงบวกต่อชิ้นงาน หรือจากความรู้สึกพอใจในผลงานที่ตัวเองทำขึ้น
การบำบัดที่รากฐาน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองเปรียบศิลปะบำบัดเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่มีใบอยู่ตามยอดและพุ่มไม้ มีกิ่ง ก้าน และลำต้น ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองเห็น และมีรากฝอยกับรากแก้วที่หยั่งลึกลงไปในชั้นดิน การใช้ศิลปะบำบัดในรูปแบบกิจกรรมระยะสั้น เปรียบเสมือนการตัดแต่งใบ พุ่มไม้ และกิ่งก้าน เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ส่วนที่อยู่ลึกลงไปในดินนั้นจำเป็นต้องมีกระบวนการบำบัดเข้ามาช่วย เพื่อบำรุงรักษาและฟื้นฟูสภาพให้ต้นไม้กลับมาแข็งแรงอย่างยั่งยืน
สู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงและเติบโต
ศิลปะบำบัดเต็มรูปแบบเป็นมากกว่ากิจกรรม เพราะเป็นกระบวนการระยะกลางถึงยาวที่สามารถ พาเราไปสู่ต้นตอของอารมณ์ ความรู้สึกทั้งบวกและลบ ตลอดจนความคิดที่อยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ
โดยนักศิลปะบำบัดจะใช้ทฤษฎีการบำบัดเพื่อวางกรอบในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการ และสร้างปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยต่อการระบายความรู้สึกออกมาจากภายใน หากกลับไปที่ภาพของต้นไม้ นักศิลปะบำบัดเปรียบเสมือนรุขกรที่ทำการจัดเตรียมพื้นที่ ดิน ปุ๋ย น้ำ และแสงแดดให้เอื้อต่อการเจริญงอกงามของต้นไม้
บทบาทที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งของนักศิลปะบำบัด คือการช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างชิ้นงาน กระบวนการสร้าง ชิ้นงาน และความรู้สึกภายใน โดยการตั้งคำถามชวนสังเกตหรือสะท้อนเรื่องราวและความหมาย ให้กับกระบวนการที่เกิดขึ้น เพื่อพาไปสู่ชั้นความรู้สึกที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้รับการบำบัดมีความพร้อม และไว้ใจในกระบวนการ
นักศิลปะบำบัดในกระบวนการศิลปะบำบัดเต็มรูปแบบ จึงเป็นเหมือนดั่งรุขกรที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับการปลูกและดูแลต้นไม้ การทำงานกับจิตใจมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยความลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน และกระบวนการที่ช่วยพาไปสู่ชั้นที่ลึกลงไปของอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งกระบวนการนี้ถือเป็นหัวใจ สำคัญของศิลปะบำบัด ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว หรือที่เรามักจะเรียกว่าการคลี่คลาย ของปมปัญหาหรือเยียวยาบาดแผลในจิตใจ