top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

พารู้จักภาวะเครียด โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

อัปเดตเมื่อ 16 ก.ค. 2566



ภัยร้ายใกล้ตัว ภาวะเครียด โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ความเปราะบางของช่วงวัยที่น่าเป็นห่วง


เป็นวัยรุ่นใครว่าไม่ยาก ผู้ใหญ่ หรือผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ช่วงวัยศึกษาเล่าเรียนเป็นช่วงที่มีความเครียดน้อยที่สุด เพราะไม่ต้องแบกภาระปัญหา หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากการตั้งใจเรียนให้จบ แต่ลองดูจากสถิติเหล่านี้ และอยากให้ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ได้อ่านบทความนี้ให้จบเสียก่อน


มีรายงานจากกรมสุขภาพจิด จากการประเมินสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นไทย ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี พบว่ามีความเครียดสูงถึง 28% มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า 32% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% เด็กอายุ 10-19 ปี กว่า 1 ใน 7 คนทั่วโลก มีอาการป่วยทางจิตที่ได้รับวินิจฉัยจากแพทย์ และมีวัยรุ่นเกือบ 46,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ตัวเลขห รือสถิติเหล่านี้ มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นทุกปี


หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นเกิดภาวะเครียดจนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าก็คือ สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ต้องยอมรับว่าช่องทางโซเชียลมีเดียในปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย และแต่ละแพลตฟอร์มก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ลองคิดดูสิว่า เมื่อเราเข้าไปในแพลตฟอร์มเหล่านี้ เลื่อนดูรูป ดูข้อความต่าง ๆ ของเพื่อน หรือคนรู้จัก ภายในเวลานับหน่วยเป็นวินาที มีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อนคนนี้ไปเที่ยวใช้ชีวิตหรูหรา “น่าอิจฉาจัง” เพื่อนคนนี้กำลังมีปัญหาความรัก “น่าสงสารจัง” เพื่อนคนนี้โพสต์รูปน้องหมา “ดูตลกจัง” จะเห็นว่าภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาที มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เกิดขึ้นมากมาย นี่เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเครียดจนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า ยังมีสาเหตุ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

  1. กรรมพันธุ์ - กรรมพันธุ์มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะกับผู้ที่เคยป่วยซ้ำหลายรอบ แม้จะรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม

  2. ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง - การทำงานที่ผิดปกติของสารสื่อประสาท ไม่ว่าจะเป็นเซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน หรือโดพามีน อาจนำไปสู่อาการของโรคซึมเศร้าได้

  3. ลักษณะนิสัย - เป็นคนคิดมาก ชอบมองโลกในแง่ร้าย

  4. ปัญหาในครอบครัว การเรียนและสังคม - เรียนหนัก หรือได้รับความกดดันจากผู้ปกครองในเรื่องของการเรียน ปัญหาการเข้าสังคมหรือเข้ากลุ่มเพื่อน เช่น โดนบูลลี่ หรือเกิดความอยากมีอยากได้แบบเพื่อนจนกลายเป็นกดดันตัวเอง

  5. ติดโซเชียล - ในยุคที่ทุกคนมีมือถือ และมีโลกส่วนตัวของตัวเอง การสื่อสารกับคนตรงหน้าน้อยลงเพราะต่างคนต่างอยู่กับมือถือของตัวเอง

  6. สภาพเศรษฐกิจและสังคม - เช่น มักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อน ๆ หรือดาราในโซเชียล ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์

  7. การบูลลี่ - แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการรณรงค์เรื่องบูลลี่ก็ตาม แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังโดนแกล้ง หรือโดนล้อ และดูว่าการล้อ หรือการแกล้งกันในยุคนี้ จะมีความรุนแรงกว่าสมัยก่อน ทำให้เกิดความอับอาย ด้อยค่าตัวเอง จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า


หลาย ๆ คนอาจกำลังสับสนว่า เรากำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เพราะมีบางโรคที่มีอาการคล้าย ๆ กัน แต่ไม่ใช่โรคซึมเศร้า ซึ่งมีวิธีแยกความแตกต่างได้ดังนี้

โรคซึมเศร้ากับโรคที่คล้ายคลึงกัน

  • มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น การย้ายโรงเรียน ย้ายคณะ หรือมีการสูญเสียครั้งสำคัญ อาจทำให้เกิดภาวะเศร้า หดหู่ แต่มักจะมีอาการไม่รุนแรง และเป็นเพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อได้พูดคุย หรือได้รับการปลอบใจ ก็สามารถหาย และกลับมาเป็นปกติได้

  • โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการสองขั้ว เช่น ร่าเริงมากเกินไป พอใครทำอะไรขัดใจก็จะอารมณ์เสียทันที โมโหร้ายกว่าคนปกติ แต่อารมณ์ดีก็จะกลับมาร่าเริงแบบผิดปกติ เชื่อมั่นในตัวเองมากจนเกินไป

  • โรควิตกกังวล ผู้ป่วยโรควิตกกังวล จะมีอาการคล้า ๆ คนเป็นซึมเศร้า แต่ไม่หนักเท่ากับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า โดยจะมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ซึ่งไม่ค่อยพบในผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

วิธีรับมือกับโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

เมื่อสังเกตถึงความผิดปกติทางด้านอารมณ์ของตัวเอง และมีความรู้สึกว่า ต้องไม่ใช่ภาวะเครียดปกติแน่ ๆ วิธีตั้งรับกับภาวะนี้ มีดังต่อไปนี้

  • ปรึกษาผู้ปกครอง บุคคลที่ไว้ใจได้ หรือจิตแพทย์ นักจิตบำบัด

  • หากิจกรรมที่สนใจ พยายามออกไปข้างนอก พยายามทำอย่างอื่นให้ออกจากความเครียด หรือความคิดวน ๆ เหล่านี้

  • ออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกายจะมีสารเอนโดรฟินหลั่งออกมา สารเอนโดรฟินนี้ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า คลายความเครียด

  • รับประทานอาหาร และนอนหลับให้เพียงพอ

  • หลีกเลี่ยงการกินยาโดยไม่จำเป็น เพราะยาบางชนิดมีส่วนทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยา

  • งดดื่มแอลกอฮอลล์ทุกชนิด

  • มีสติ เข้าใจในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สุข เศร้า ผิดหวัง ทุกคนบนโลกล้วนต้องเจอกับอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เช่นกัน

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น และวิธีรักษา

1.รักษาด้วยการให้ยา: กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาจะเป็นกลุ่มยาต้านเศร้า โดยในระยะแรกจิตแพทย์จะให้ยาปริมาณต่ำ เพื่อค่อย ๆ ปรับสารเคมีในสมอง และนัดติดตามอาการ ในระยะแรก ๆ อาจมีการเปลี่ยนยาหลายครั้ง เพื่อให้ได้ยาที่ตรงกับผู้ป่วยมากที่สุด และหากยาต้านเศร้าที่จิตแพทย์สั่งให้นั้น ไม่ได้ส่งผลข้างเคียงอะไร จิตแพทย์จะค่อย ๆ ปรับโดสยาให้ จนผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ

2.พบนักจิตบำบัด: กรณีที่มีอาการซึมเศร้ามาก รักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่ค่อยเห็นผล จิตแพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยพบนักจิตบำบัดควบคู่ไปกับการกินยาด้วย โดยการรักษาแบบจิตบำบัด มีให้เลือกหลายแบบ เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด โยคะบำบัด ฯลฯ แล้วแต่ว่าผู้ป่วยอยากรับการรักษาแบบไหน

วิธีรับมือเมื่อลูกหลาานที่เป็นโรคซึมเศร้า

ครอบครัว ผู้ปกครอง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่พวกเขาจะก้าวข้ามผ่านภาวะซึมเศร้า โดยมีคำแนะนำให้ปฏิบัติตาม ดังนี้

  • ต้องทำความเข้าใจก่อนว่านี่เป็นภาวะของโรค ไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจ

  • ให้กำลังใจ ดูแล พาไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

  • ผู้ปกครองต้องใจเย็นกับลูก ๆ ที่มีภาวะซึมเศร้า ต้องเข้าใจก่อนว่า เด็ก ๆ เหล่านี้เปราะบางทางด้านอารมณ์มาก

  • รับฟังปัญหา แต่ต้องไม่ตัดสิน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการแค่คนรับฟัง

  • ชื่นชมทุกครั้ง เมื่อลูกทำสิ่งดี ๆ

  • ปรึกษาครู และเพื่อน ๆ รอบข้างของลูก ให้พวกเขาให้ความร่วมมือ ช่วยดูแลเมื่อต้องอยู่ที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย

  • คอยสังเกตอาการของลูก เมื่อพบว่ามีความผิดปกติ และคาดว่ามีโอกาสทำร้ายตัวเองสูง ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว

  • ไม่บังคับให้ลูก ๆ มองโลกในแง่ดี ต้องเข้าใจกลไกของสมองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก่อนว่า สมองจะทำงานไม่ปกติเหมือนคนอื่น ๆ แนะนำให้พาออกไปทำกิจกรรมสนุก ๆ ท่องเที่ยวพักผ่อน จะช่วยลดความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้

คำพูดบางคำ อาจจะไม่เหมาะกับการใช้กับผู้ป่วยซึมเศร้า เช่น ร้องไห้ทำไม คิดบวกสิ เรื่องแค่นี้เอง อย่าคิดมาก หยุดร้องไห้เดี๋ยวนี้ ทำไมทำไม่ได้ เดี๋ยวอะไร ๆ ก็ดีขึ้น สู้ ๆ นะ ฯลฯ คำต้องห้ามของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่โดยรวม ๆ แล้ว หากไม่รู้จะพูด หรือจะให้กำลังใจอะไร ให้เลี่ยงการพูดคำเหล่านั้นโดยใช้ การกอด หรือการจับมือแทนจะดีกว่า


อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการรักษาโรคซึมเศร้าให้หายขาดได้ นั่นคือการได้เข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดที่ดี มีคุณภาพ มีความเข้าใจผู้ป่วย และมีวิธีการรักษาผู้ป่วยในแนวทางบูรณาการ ให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ที่ THE OASIS คลินิกจิตเวช เรามีนักจิตบำบัด และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยินดีให้บริการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์พร้อมรับฟังปัญหา และบริการวางแผนการรักษาโรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ในวัยรุ่น ทั้งการบำบัดด้วยกีฬา ไม่ว่าจะเป็นคลาสโยคะที่ช่วยให้ร่างกายของคุณได้พักผ่อน หรือบำบัดด้วยศิลปะ เพื่อเพิ่มสมาธิให้กับจิตใจ การเข้าคลาสศิลปะที่ผ่อนคลาย และทำให้คุณได้ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ในชีวิตมากขึ้น ผู้รับบริการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในภาวะโรค และมีบทบาทในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งในส่วนการรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด


The Oasis คลินิกจิตเวช บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช

โดยจิตแพทย์ หมอจิตเวช และนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ อาการแพนิค อารมณ์สองขั้ว ย้ำคิดย้ำทำ และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ








ดู 1,433 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page