ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่าภาวะซึมเศร้านั้นเป็นอย่างไรและต่างจากความโศกเศร้าทั่วไปอย่างไร เมื่อไม่เข้าใจ อาจทำให้อยู่ร่วมกับคนที่กำลังมีภาวะซึมเศร้าได้ยากหรือไม่ราบรื่น โดยเฉพาะถ้าคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าเป็นเพื่อนสนิทหรือสมาชิกในครอบครัวของตนเอง
บ่อยครั้งที่ความไม่เข้าใจของคนรอบตัวกลับตอกย้ำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เดียวดาย และเชื่อว่าตนเป็นภาระของคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การมีภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความผิดของคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องของปัจจัยหลายๆ ด้านในชีวิต รวมถึงร่างกายและจิตใจที่ขาดความสมดุล
การช่วยกันทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและกับคนรอบข้างจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเพื่อให้สามารถช่วยเหลือและดูแลผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้ได้ดียิ่งขึ้น
เพราะอะไรจึงซึมเศร้า
สาเหตุของภาวะซึมเศร้าเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งปัจจัยทางชีวภาพ หรือที่มักจะได้ยินว่า สารเคมีในสมองทำงานไม่สมดุล ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางอารมณ์ความรู้สึก ปัจจัยทางความคิด ปัจจัยด้านพฤติกรรม และปัจจัยทางจิตสังคม
จากงานวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก (ถึงอายุ 18 ปี) กับความเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่ พบว่าการถูกทำร้ายจิตใจในวัยเด็กเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ผู้ที่เคยได้รับประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ในวัยเด็กห้าด้านหรือมากกว่า จากทั้งหมดแปดด้านซึ่งประกอบด้วย การถูกทำร้ายจิตใจ การถูกทำร้ายทางกาย ถูกทำร้ายทางเพศ มีคนในครอบครัวใช้สารเสพติด มีคนในครอบครัวมีภาวะทางจิตเวช การหย่าร้างของบิดามารดา มีมารดาที่ได้รับการทำร้ายรุนแรง มีคนในครอบครัวเป็นอาชญากรหรือเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกห้าเท่าต่อการมีภาวะซึมเศร้าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบอีกว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ในวัยเด็กมากกว่าผู้ชาย
จะเห็นได้ว่า ประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ในวัยเด็กทั้งแปดด้านนี้เกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็ก และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ในวัยเด็กแล้วจะเกิดภาวะซึมเศร้าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยผลของงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าปัจจัยทางสังคม เช่น การรับรู้ว่ามีคนเข้าใจ หรือสนับสนุนทางจิตใจ มีส่วนป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่ แม้ว่าคนๆ นั้นจะผ่านประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ในวัยเด็กมาก็ตาม
โศกเศร้าหรือซึมเศร้าเพราะสูญเสีย
เมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก อกหัก ตกงาน เสียโอกาสสำคัญๆ ในชีวิต หรือความสูญเสียที่ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ที่ชัดเจน เช่น สูญเสียโอกาสการใช้ชีวิตในแบบที่อยากมี สูญเสียความสัมพันธ์ที่มีความหมาย สูญเสียสถานะหรือความน่าเชื่อถือทางสังคม หรือสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองจากประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรม อาจมีความคล้ายคลึงกับอาการในกลุ่มโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกเศร้ารุนแรง นอนไม่หลับ โกรธ หงุดหงิด ทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปรกติ เก็บตัว ไม่อยากทำอะไร หรือรู้สึกผิดและโทษตัวเอง ซึ่งอาจพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี หรือไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนรอบตัว
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าความเศร้านั้นเป็นอาการโศกเศร้าเฉยๆ หรือเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าแล้ว สำหรับในทางทฤษฎี แม้ว่าความโศกเศร้าที่เกิดจากการสูญเสียจะมีความคล้ายคลึงกับอาการในกลุ่มโรคซึมเศร้า แต่ที่ต่างกันคือ ความโศกเศร้าจะมีความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมไปในทางที่คลี่คลายเมื่อผ่านกระบวนการทำความเข้าใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถูกแฟนบอกเลิก ในระยะแรกของความสูญเสีย อาจยังมีการปฏิเสธว่าความสัมพันธ์ได้จบลงแล้ว เกิดความรู้สึกสับสน โกรธ เจ็บปวดหรือโศกเศร้าเสียใจ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นกลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่เมื่อผ่านพ้นระยะเวลาช่วงนี้ไปได้ ความคิดหรือความรู้สึกอื่นๆ ต่อการถูกบอกเลิกอาจเริ่มเปลี่ยนไป โดยอาจเริ่มบอกตัวเองว่า จริงๆ แล้วแฟนก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด หรือเริ่มรู้สึกว่าตอนที่คบกัน ตัวเราเองก็ฝืนทนกับหลายๆ อย่างเหมือนกัน จนเริ่มมองเห็นว่าอาจไปด้วยกันไม่ได้จริงๆ หรืออาจรู้สึกดีที่หลุดออกจากความสัมพันธ์แบบฝืนๆ ไม่มีความสุข และสามารถกลับมาใช้ชีวิตต่อได้ในที่สุด ซึ่งระยะเวลาของการเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจสั้นหรือยาวนาน ขึ้นอยู่กับความสำคัญของสิ่งหรือบุคคลที่สูญเสียไป ปัจจัยส่วนบุคคลที่ช่วยให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ตลอดจนการได้รับความเห็นอกเห็นใจหรือเข้าใจจากคนรอบตัว หากไม่เกิดการคลี่คลาย หรือไม่มีการทำความเข้าใจในความสูญเสียที่เกิดขึ้น ภาวะซึมเศร้าก็อาจจะตามมา
เมื่อซึมเศร้าแล้วเป็นอย่างไร
ในทางการแพทย์มีหลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าที่ครอบคลุมถึงกลุ่มอาการต่อไปนี้ 1. อารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า 2. ขาดความรู้สึกรื่นรมย์ ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ 3. ทานอาหารมากขึ้นหรือลดลงจากเดิมมาก 4. มีปัญหาในการนอน อาจจะนอนมากขึ้น หรือน้อยลง 5. คิดและเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง 6. อ่อนเพลีย หมดแรง 7. รู้สึกไร้ค่า โทษตัวเองหรือรู้สึกผิดไปกับทุกเรื่อง 8. ขาดสมาธิ คิดไม่ออก ตัดสินใจไม่ได้ 9. มีความคิดอยากตาย พูดถึงความตายบ่อยๆ โดยอาจไม่ได้มีแผนหรือความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย โดยผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ภาวะซึมเศร้าจะเข้าข่ายอาการเหล่านี้อย่างน้อย 5 อาการขึ้นไป และอาการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นเกือบทั้งวันและทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
คนรอบตัวอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เช่น มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย หงุดหงิดมากขึ้น เก็บตัวอยู่ในห้อง นอนมากขึ้นหรือน้อยลง ทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง เบื่อหน่าย อ่อนเพลีย ไม่ร่าเริง ซึม ไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ พูดในเชิงโทษหรือตำหนิตัวเองว่าไม่เอาไหน เป็นภาระ และอาจมีการพูดถึงความตายในทางตรง (เช่น ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว) หรือทางอ้อม (เช่น ถ้านอนหลับแล้วไม่ตื่นอีกเลยก็ดี) หากเป็นที่ทำงาน อาจมีการลาหยุดบ่อยขึ้น ขาดสมาธิในการทำงาน จากที่เคยทำงานเร็วอาจทำงานเสร็จช้าลง คุณภาพงานไม่ดีเหมือนเดิม มีการแยกตัวจากคนอื่น หรือมีอารมณ์อ่อนไหวจนเกิดปากเสียงกับเพื่อนร่วมงานบ่อยขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายในเวลาอันสั้น หรืออาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จนบ่อยครั้งเมื่อรู้อีกที อาการก็เป็นมากขึ้นแล้ว
ซึมเศร้าไม่ใช่ทางเลือก
เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามักจะถูกเข้าใจผิดว่า ทำตัวอ่อนแอ ขี้เกียจ คิดลบ หรือไม่พยายามเอาตัวเองออกจากความทุกข์ ซึ่งการเข้าใจแบบนี้จะนำไปสู่การพูดหรือการกระทำใดๆ ที่ตอกย้ำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ารู้สึกโดดเดียว ไร้ค่า และตำหนิตัวเองมากขึ้น อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ การเป็นภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ทางเลือก ไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาวะที่หดหู่ซึมเศร้า อ่อนแรง หมดหวัง เบื่อหน่อย ท้อแท้กับชีวิต หรือต้องตกอยู่ในสภาพที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเองไม่ได้
การทำความเข้าใจกับภาวะซึมเศร้า ต้องพิจารณามากกว่าการดูเพียงอาการที่เกิดขึ้น หรือมองเพียงแค่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวผู้มีภาวะซึมเศร้าเองเลือกที่จะอยู่ในวังวนของความหดหู่ ท้อแท้ แต่ต้องมองภาพให้ลึกและกว้างขึ้นว่า คนๆ นี้ปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรในชีวิตบ้าง มีปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยสนับสนุนอะไรเกี่ยวข้องบ้าง
และเขาเคยเจออะไรในอดีต ตลอดจนประสบการณ์ในอดีตเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันบ้าง
หากไม่ได้รับการดูแลรักษา ภาวะซึมเศร้ามักจะไม่ดีขึ้นเอง ความเข้าใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะการรับฟังโดยไม่ตัดสิน ตลอดจนแสดงความเห็นอกเห็นใจเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือโทษตัวเองมากขึ้น
*บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ไม่ใช่การให้คำปรึกษาหรือแนะนำทางจิตวิทยา หากผู้อ่านหรือคนใกล้ชิดมีหรือสงสัยว่ามีภาวะซึมเศร้า กรุณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมินและรักษาอย่างต่อเนื่อง
THE OASIS คลินิกจิตเวช ยินดีให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล โรคแพนิค และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ สามารถให้คำปรึกษาในกลุ่มอาการหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของท่าน หรือคนที่ท่านรัก ดูแลครอบคลุมทั้งบริการทางจิตเวชทั่วไปในเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เรามีการตรวจประเมินสุขภาพจิตอย่างละเอียด ทั้งด้านการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ระบบประสาท และประเมินศักยภาพสมองด้วยแบบสอบถาม จิตแพทย์ หมอจิตเวชผู้เชี่ยวชาญของเรา ยินดีให้บริการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ พร้อมรับฟังปัญหา และวางแผนการรักษา บำบัดด้วยกีฬา หรือศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นคลาสโยคะที่ช่วยให้ร่างกายของคุณได้พักผ่อน และเพิ่มสมาธิให้กับจิตใจ การเข้าคลาสศิลปะที่ผ่อนคลาย และทำให้คุณได้ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ในชีวิตมากขึ้น ผู้รับบริการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในภาวะโรค และมีบทบาทในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งในส่วนการรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด
The Oasis คลินิกจิตเวช บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช
โดยจิตแพทย์ หมอจิตเวช และนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ อาการแพนิค อารมณ์สองขั้ว ย้ำคิดย้ำทำ และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ
อ่านเพิ่มเติม
Chapman, D. P., et al. (2004). Adverse childhood experiences and the risk of depressive disorders in adulthood. Journal of Affective Disorders, 82, 217–225.
Cheong, E. V., et al. (2017). Adverse childhood experiences (ACEs) and later-life depression: perceived social support as a potential protective factor
Felitti, V. J., et al. (1998). Relationship of childhood abuse and
household dysfunction to many of the leading causes of death in adults: The Adverse Childhood Experiences (ACE) study. American Journal of Preventive Medicine, 14(4), 245-258.
Hari, Johann. (2019). Lost connections: Uncovering the real causes of depression – and the unexpected solutions. London, UK: Bloomsbury Publishing.
Comments