top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

รูปภาพนักเขียนThe Oasis Team

รู้จักโรคซึมเศร้า และวิธีฟื้นฟูจิตใจจากโรคซึมเศร้า

อัปเดตเมื่อ 2 ก.พ. 2566


โรคซึมเศร้า

ทำความรู้จักโรคซึมเศร้า ภัยเงียบใกล้ตัว และวิธีฟื้นฟูจิตใจจากโรคซึมเศร้าด้วยกิจกรรมบำบัดต่าง ๆ


ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมเมือง และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเอง เช่น ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง สภาพสังคมที่มีความกดดันและคาดหวังสูง สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต การเสพข่าวเศร้าหรือรุนแรงเป็นระยะเวลานาน ภาวะเคร่งเครียดจากการเรียนหรือการทำงานหนัก การถูกคุกคามทางเพศ การสูญเสียของบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น ซึ่งโรคซึมเศร้านั้นใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่คิด อาจเป็นตัวท่านเอง คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงาน บทความนี้ The Oasis จะชวนมาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าและวิธีฟื้นฟูจิตใจจากโรคซึมเศร้า เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตตนเองและผู้คนรอบข้าง รวมถึงเพื่อการปฏิบัติตัวและรักษา บำบัดโรคซึมเศร้าได้อย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นและลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

แต่เดิมในสังคมไทยมักมีความเข้าใจผิดต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าเป็นเพราะคน ๆ นั้นอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง หรือมีอารมณ์อ่อนไหวมากเกินไป คิดมาก เป็นโรควิตกกังวลเกินกว่าเหตุ แต่ในปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้น เพราะมีการเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้น มีการให้ความรู้แก่คนทั่วไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผ่านสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทหลักในสังคม โดยผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลนั้นมีทั้งจิตแพทย์ หมอจิตเวช นักจิตบำบัด รวมถึงการบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและบุคคลใกล้ชิด


โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งในทางจิตเวช เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ที่มีปริมาณลดลง หรือเกิดภาวะสารเคมีในสมองไม่สมดุล ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข เศร้าสร้อย ท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร หดหู่ เครียด วิตกกังวล บางรายอาจมีอาการของโรควิตกกังวล และโรคนอนไม่หลับร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งอาการเริ่มต้นและอาการรุนแรง หากไม่รักษาโรคซึมเศร้าอาจส่งผลต่อการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และบางรายอาจรุนแรงถึงขนาดทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตายได้


โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร

อย่างที่กล่าวไว้ว่าโรคซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุดังนี้

1. กรรมพันธ์ุ จากการเก็บเคสของหมอจิตเวชหลาย ๆ ท่าน พบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนหนึ่งมักอยู่ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวช หรือมีประวัติคนในครอบครัวฆ่าตัวตาย จึงเป็นโรคที่อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้


2. การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายมักมีประวัติถูกเลี้ยงดูที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่น การเลี้ยงดูโดยใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเลี้ยงดูที่ปราศจากความรักและการเอาใจใส่ การถูกคุมคามทางเพศจากคนในครอบครัว การเลี้ยงดูที่เคร่งเครียดและคาดหวังมากจนเกินไป การถูกตีกรอบจากผู้ปกครอง สาเหตุเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจโดยตรง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและระยะเวลาที่ถูกกระทำ


3. ความเครียดสะสม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจเริ่มมาจากการเกิดความเครียด เช่น เครียดจากการเรียน การทำงาน สภาพเศรษกิจและสังคม การเสพสื่อด้านลบมากเกินไป การถูกบูลลี่ (Bully) ทั้งการกระทำต่อหน้า เช่น กลั่นแกล้ง พูดจาเยาะเย้ย ถากถาง ล้อเลียน และการถูกบูลลี่ทางอินเทอร์เน็ต หรือที่รู้จักกันว่า Cyberbullying เช่น การถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียหายในโซเชียลต่าง ๆ การถูกแอบถ่ายแล้วแชร์ภาพลงในอินเทอร์เน็ต การถูกคุมคามด้วยข้อความที่รุนแรง หรือไม่เหมาะสม เป็นต้น เมื่อพบเจอบ่อย ๆ หรือกินระยะเวลานาน หรือผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก ก็จะเกิดความเครียดสะสมจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้


4. การเสียใจหรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจเพิ่งพบกับความเสียใจอย่างรุนแรง จากการสูญเสียครั้งใหญ่ เช่น สูญเสียบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงเป็นที่รัก หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงจากการประสบอุบัติเหตุ หรืออยู่ในเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง เช่น กราดยิง จนทำให้กลายโรคซึมเศร้าได้


5. ความเจ็บป่วยทางร่างกาย การเป็นโรคทางกายภาพ หรือเกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่เคยมีอวัยวะครบ การเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น โรคซึมเศร้าในคุณแม่หลังคลอด (Baby Blue) รวมถึงการเสื่อมถอยของร่างกายในผู้สูงอายุ ก็อาจมีผลต่อสภาพจิตใจจนเกิดโรคซึมเศร้าได้


เช็คลิสต์อาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

- มีอารมณ์ซึมเศร้า ท้อแท้ หดหู่ ร้องไห้ง่าย อารมณ์อ่อนไหวมากกว่าปกติ

- วิตกกังวลจนเกินเหตุ กระวนกระวาย ขาดสมาธิ

- มีอาการเครียด

- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า

- นอนไม่หลับ หรือหลับมากจนเกินไป นอนทั้งวันหรือข้ามวัน

- เบื่ออาหาร หรือเจริญอาหารมากกว่าปกติ และน้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นแบบกระโดด

- รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร รวมถึงกิจกรรมที่เคยชอบมาก

- รู้สึกตนเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ สิ้นหวัง โทษตัวเองบ่อย ๆ

- คิดเรื่องการทำร้ายตนเอง รู้สึกอยากตาย


หากมีอาการตามข้างต้นแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ที่คลินิคจิตเวชโดยเร็ว หรืออาจขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ออนไลน์ เพื่อรับคำปรึกษาโรคซึมเศร้าในเบื้องต้นได้ อย่าปล่อยไว้นาน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า หรืออาจเป็นเพียงโรคเครียด โรคนอนไม่หลับ หรือโรควิตกกังวล ซึ่งจิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการและทำการรักษาโรคซึมเศร้า หรือโรคอื่น ๆ ตามที่วินิจฉัยได้


วิธีฟื้นฟูจิตใจจากโรคซึมเศร้า

หากท่านเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้ากับจิตแพทย์ หมอจิตเวชผู้เชี่ยวชาญที่ The Oasis แล้ว นอกจากการรับประทานยาตามที่จิตแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้วนั้น ยังมีกิจกรรมบำบัดอื่น ๆ ที่คลินิกจิตเวช The Oasis จัดขึ้นเพื่อช่วยบำบัดและฟื้นฟูจิตใจจากโรคซึมเศร้าได้


การทำจิตบำบัด

การดูแลจิตใจผ่านการพูดคุยกับนักจิตบำบัดอย่างเป็นส่วนตัว ในพื้นที่ปลอดภัย ทำให้ท่านสามารถเปิดใจบอกเล่าถึงสิ่งที่เป็นปัญหาในชีวิต จนความรู้สึกทุกข์หรืออึดอัดคับข้องใจบรรเทาลง นักจิตบำบัดจะชวนท่านสำรวจไตร่ตรองถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด จนเกิดความเข้าใจในตัวเอง เกิดความตระหนักรู้ภายใน ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับรับมือสถานการณ์ยากลำบาก ผู้รับบริการจะได้ลองเผชิญหน้ากับปัญหา เรียนรู้ที่จะอยู่กับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความกลัวกังวล ความเศร้าจากการสูญเสีย โดยมีนักจิตบำบัดคอยอยู่เคียงข้าง จนกระทั่งท่านรู้สึกสงบใจ มั่นคง รับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่มาถึงในชีวิตได้


ศิลปะบำบัด

เป็นการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง เพื่อทดแทนข้อจำกัดทางคำพูดและภาษา เมื่ออธิบายถึงสภาวะหรือห้วงความรู้สึกนึกคิดบางอย่าง ผู้รับบริการศิลปะบำบัดจะได้ทดลองสร้างงานศิลปะ เพื่อบอกเล่าความรู้สึกผ่านภาษาภาพและสัญลักษณ์ โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือเชี่ยวชาญด้านศิลปะมาก่อน กระบวนการสำคัญคือท่านจะได้สังเกต สำรวจ ทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างทำงานศิลปะและเมื่อทำผลงานเสร็จสิ้น


โยคะบำบัด

เป็นการนำกิจกรรมโยคะมาช่วยเยียวยาปัญหาทางร่างกายและจิตใจของผู้รับบริการ ผ่านการฝึกหายใจและเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม ช่วยให้ร่างกายและจิตใจเชื่อมโยงประสานกลมกลืนกัน คลี่คลายความรู้สึกไม่สบายตัวที่แฝงอยู่ เกิดความเข้าใจโลกภายในตัวเองมากขึ้นจากการสังเกตและรับรู้ร่างกาย เมื่อปฏิบัติแล้วจะช่วยให้ท่านได้มีช่วงเวลาแห่งความรักและดูแลตัวเอง ปลอบประโลมจิตใจตัวเองได้ในเวลาที่ต้องการด้วยเทคนิคการผ่อนคลาย นำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ด้านร่างกายและการฝึกหายใจในชีวิตประจำวันให้ดีต่อกายและใจ


บำบัดผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์

ช่วยให้ท่านได้สัมผัสกับความผ่อนคลาย ความสนุกและสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่พักจากความเครียดและเหนื่อยล้าจากภาระหน้าที่ในชีวิตและการงาน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ทำความเข้าใจตนเอง พร้อมฝึกทักษะจัดการอารมณ์ความรู้สึกและสื่อสารกับคนรอบตัวอีกด้วย


ที่ The Oasis เราให้บริการทางจิตเวช โดยนักบำบัด จิตแพทย์ หมอจิตเวชผู้เชี่ยวชาญ ดูแลครอบคลุมทั้งบริการทางจิตเวชทั่วไปในเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เรามีการตรวจประเมินสุขภาพจิตอย่างละเอียด ทั้งด้านการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ระบบประสาท และประเมินศักยภาพสมองด้วยแบบสถาม จิตแพทย์ หมอจิตเวชผู้เชี่ยวชาญของเราสามารถให้คำปรึกษาในกลุ่มอาการหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของท่านหรือคนที่ท่านรัก เริ่มตั้งแต่กลุ่มอาการเครียด เช่น รู้สึกวิตกกังวล คิดวกวน ไม่มีเรี่ยวแรง นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย หรือแพนิค (อาการตื่นตระหนกโดยไม่มีสาเหตุ) ภาวะโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล อารมณ์สองขั้ว ย้ำคิดย้ำทำ ความผิดปกติทางการกิน รวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาบุคลิกภาพ ภาวะหมดไฟในการทำงาน และปัญหาด้านความจำ หรือภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นอาการแบบใด ผู้รับบริการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในภาวะโรค และมีบทบาทในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งในส่วนการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด


หากท่านหรือคนที่ท่านรักมีอาการของโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคนอนไม่หลับ The Oasis พร้อมรับฟังปัญหา และบริการวางแผนการรักษา โดยจิตแพทย์ หมอจิตเวช นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญ พร้อมบริการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์


The Oasis คลินิกจิตเวช บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช

โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ อาการแพนิค อารมณ์สองขั้ว ย้ำคิดย้ำทำ จิตบำบัดแบบกลุ่ม











ดู 4,023 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page