top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

รู้จักโรคแพนิค (Panic Disorder) ภาวะตื่นตระหนก วิตกกังวล

อัปเดตเมื่อ 16 ก.ค. 2566



ชวนรู้จักโรคแพนิค (Panic Disorder) พร้อมวิธีเช็ค ระดับไหนควรพบจิตแพทย์ / นักบำบัด


ต้องยอมรับเลยว่าในปัจจุบันสภาพสังคม และปัญหาต่าง ๆ ได้รุมเร้าให้ผู้คนมีปัญหาทางใจมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือโรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรควิตกกังวลที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องใช้ชีวิตในสังคมอย่างยากลำบาก ประกอบกับโรคที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจมักแสดงอาการได้ซับซ้อนกว่าอาการป่วยทางกาย ที่เราต่างรู้ตัวกันดีว่าเจ็บตรงไหน หรือมีอะไรบุบสลายไปบ้าง ทำให้กว่าหลายคนจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ก็มักจะเผชิญความทุกข์อย่างหนักอยู่นาน ดังนั้นบทความนี้ THE OASIS คลินิกจิตเวช เลยขอเป็นคู่มือช่วยตรวจเช็กอาการของทุกคน ให้รู้จัก และเข้าใจกับโรคนี้ให้ดีมากยิ่งขึ้นว่าคืออะไร? มีสาเหตุมาจากอะไร? มีอาการแบบไหน? และรักษาอย่างไรได้บ้าง? เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถตรวจเช็กอาการของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และรู้ตัวว่าถึงเวลาต้องปรึกษาจิตแพทย์ และนักบำบัดแล้ว


โรคแพนิค (Panic Disorder) คืออะไร?

โรคแพนิค (Panic Disorder) นับเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการตื่นกลัว และตื่นตระหนกตกใจได้อย่างเฉียบพลัน แตกต่างจากอาการแพนิคทั่วไปที่เรามักชอบพูดกันเวลาเห็นคนตกใจ เพราะในกรณีนั้นเรามักจะสื่อถึงคนที่มีอาการกลัว ตกใจ หรือกังวลในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อปรับตัวได้อาการเหล่านั้นก็จะหายไปภายในเวลาไม่นาน แต่สำหรับคนที่เป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) แล้ว อาการจะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาต่อให้จะตกใจ หรือไม่ตกใจก็ตาม อีกทั้งอาการที่เกิดขึ้นยังหนักกว่าการตกใจแบบคนทั่วไปด้วย อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้เมื่อพบจิตแพทย์ และนักบำบัด


สาเหตุของโรคแพนิค (Panic Disorder) เกิดจากอะไร? ถ้าเราได้ลองพูดคุยกับจิตแพทย์ หรือหมอจิตเวชผู้เชี่ยวชาญ เราจะทราบได้เลยว่าโรคแพนิค (Panic Disorder) นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมาก ๆ โดยในบทความนี้ขอแบ่งออกเป็น 2 กรณีใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. สาเหตุทางกายภาพ: สำหรับสาเหตุทางกายภาพนี้ จิตแพทย์ หรือหมอจิตเวชผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำอธิบายไว้ว่าเป็นสาเหตุที่มาจากอาการทางร่างกายล้วน ๆ ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสองแบบ แบบแรกมาจากปัจจัยด้านพันธุกรรม กล่าวคือถ้าเรามีญาติพี่น้อง หรือต้นตระกูลเคยป่วยเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) มาก่อน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน อีกแบบหนึ่งคือฮอร์โมนในร่างกายของเรานั้นผิดปกติ ส่งผลให้สารเคมีในสมองไม่สมดุลจนระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดพลาด ทำให้การควบคุมการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายไม่ปกติจนก่อให้เกิดอาการของโรคแพนิค (Panic Disorder) ได้นั่นเอง

  2. สาเหตุทางใจ: สภาพสังคมในปัจจุบันได้ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่หมกมุ่นอยู่กับโลกออนไลน์ พักผ่อนน้อย ออกกำลังกายน้อย และต้องกดดันกับปัญหาหลายอย่าง ได้ส่งผลให้หลาย ๆ คนเกิดความเครียด และวิตกกังวลได้ง่ายมากขึ้น เมื่อความคิดเหล่านี้สะสมอยู่ภายในจิตใจมาก ๆ เข้า ก็ทำให้เกิดโรคแพนิค (Panic Disorder) ขึ้นได้ นอกจากนี้จิตแพทย์ หรือหมอจิตเวชยังชี้อีกว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่เครียด หรือวิตกกังวลแบบสะสม แต่ถ้าบังเอิญไปเจอเหตุการณ์รุนแรง สะเทือนขวัญ หรือเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่จนตั้งตัวไม่ทัน ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพนิคขึ้นได้เช่นกัน

วิธีประเมินอาการเบื้องต้น ว่ากำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) หรือไม่?

ในกรณีของคนที่เป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) จิตแพทย์ หรือหมอจิตเวชผู้เชี่ยวชาญมักจะระบุว่ามีอาการร่วมกันหลายอย่าง ดังนี้

  • จู่ ๆ ก็เกิดอาการใจสั่น ใจเต้นแรง

  • แน่น หรือเจ็บหน้าอก

  • เหงื่อแตกอย่างหนัก และตัวสั่น

  • หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจขัด

  • วิงเวียน คลื่นไส้ คล้ายจะเป็นลม

  • บางครั้งก็รู้สึกหนาวสั่น บางครั้งก็ร้อนวูบวาบคล้ายจะเป็นไข้

  • รู้สึกชาซ่า ๆ มือเท้าสั่น

  • เมื่อเคยเกิดอาการแล้ว มักจะมีความรู้สึกกังวลอยู่เสมอว่าจะเกิดอาการทั้งหมดขึ้นอีก

  • ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ และกังวลว่าตัวเองอาจเป็นโรคร้ายแรงจากอาการที่เกิดขึ้น

  • กลัวการอยู่คนเดียว และไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

สำหรับวิธีการประเมินตัวเองเบื้องต้นคือ ให้ลองทำการสังเกตตัวเองเป็นเวลา 1 เดือนว่ามีอาการที่ได้กล่าวมาข้างต้นปรากฏขึ้นมาบ้างหรือเปล่า ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 อาการขึ้นไปตลอด 1 เดือน นั่นเป็นสัญญาณว่าเราต้องทำการปรึกษาจิตแพทย์ และนักบำบัดผู้เชี่ยวชาญแล้ว เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) ทว่าการประเมินด้วยตัวเองในส่วนนี้ยังไม่สามารถชี้ขาดได้ว่ามาจากโรคนี้จริง ๆ จนกว่าจะได้พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้ได้คาบเกี่ยวกับโรคอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันอีกหลายโรค เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคกลัวสังคม และโรคกลัวเฉพาะอย่าง เป็นต้น


โรคแพนิค (Panic Disorder) รักษาอย่างไรได้บ้าง?

อย่างที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 1 ใน 3 และไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิดหากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรควิตกกังวลประเภทนี้จะมีอยู่ 2 แบบหลัก ๆ คือ

  1. การรักษาด้วยการพบจิตแพทย์ และรับยา: เมื่อไปรับการรักษาที่คลินิกจิตเวช หรือในโรงพยาบาล และผ่านการพิจารณาอาการอย่างชัดเจนแล้ว จิตแพทย์ก็จะทำการรักษาเราด้วยการให้ทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมองกลับมาทำงานได้เป็นปกติอีกครั้ง โดยปกติแล้วการรักษาอาการจะใช้เวลาประมาณ 8 - 12 เดือน หรืออาจจะมาก และน้อยกว่านั้นก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับอาการ และการตัดสินใจของจิตแพทย์ผู้รักษา

  2. การรักษาแบบจิตบำบัด: อีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยรักษาอาการโรคแพนิค (Panic Disorder) ได้ก็คือการทำจิตบำบัดกับนักบำบัด หรือจะทำควบคู่ไปกับการรับยาด้วยก็จะส่งเสริมกันได้ดีมาก ซึ่งวิธีการบำบัดที่ว่านั้นก็คือการฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ และฝึกมองโลกในแง่บวก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอาการหายใจไม่อิ่ม ฝึกรวบรวมสติให้รู้เท่าทันตัวเอง และช่วยลดอาการตื่นตระหนกได้ด้วย


อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านใดยังรู้สึกไม่มั่นใจในอาการของตัวเอง และไม่กล้าเข้าไปหาคุณหมอที่คลินิกจิตเวชโดยตรง สามารถรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตผ่านการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์กับทาง THE OASIS คลินิกจิตเวชยินดีให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิต โรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวลโรคซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เรามีนักจิตบำบัด และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยินดีให้บริการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์พร้อมรับฟังปัญหา และบริการวางแผนการรักษา บำบัดด้วยกีฬา หรือศิลปะ เพื่อเพิ่มสมาธิให้กับจิตใจ และทำให้คุณได้ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ในชีวิตมากขึ้น ผู้รับบริการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในภาวะโรค และมีบทบาทในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งในส่วนการรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด


The Oasis คลินิกจิตเวช บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช

โดยจิตแพทย์ หมอจิตเวช และนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ อาการแพนิค อารมณ์สองขั้ว ย้ำคิดย้ำทำ และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ








ดู 10,519 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page