top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

การรับมือกับโรควิตกกังวลในที่ทำงาน


5 วิธีการเบื้องต้นที่จะช่วยรับมือกับโรควิตกกังวลในที่ทำงานได้


โรควิตกกังวล ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวชลำดับต้น ๆ ที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตได้มีการประเมินเอาไว้ว่า ในประเทศไทย มีคนมากถึงหนึ่งแสนคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ แน่นอนว่าเมื่อป่วยแล้ว ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องใช้เวลา และความตั้งใจในการประคองอาการให้ผ่านไปได้ ทว่าในระหว่างการรักษา หลาย ๆ คนก็ยังต้องดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนหนังสือ การพบปะผู้คน รวมถึงการทำงาน ซึ่งในระหว่างที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็อาจจะมีบางเหตุการณ์ หรือบางสถานการณ์ที่กระตุ้นให้อาการของโรควิตกกังวลกำเริบขึ้นมา สำหรับโรควิตกกังวลที่มักพบได้บ่อยในการทำงาน ก็ประกอบไปด้วย โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD), อาการวิตกกังวลทางสังคม, ความวิตกกังวลที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ต้องการความสมบูรณ์แบบ และความกังวลที่มาจากความสัมพันธ์ เป็นต้น


เพื่อช่วยให้ทุกคนที่กำลังรับมือกับอาการของโรควิตกกังวล วันนี้ THE OASIS คลินิกจิตเวช จะมาแนะนำ 5 วิธีการเบื้องต้นที่จะช่วยรับมือกับโรควิตกกังวลในที่ทำงานได้ว่า หากมีอาการเกิดขึ้นแล้วจะต้องทำอย่างไรดี หรือควรเลี่ยงสถานการณ์แบบไหนเพื่อไม่ให้มีอาการกำเริบขึ้นมาได้


5 วิธีเบื้องต้น ช่วยรับมือกับโรควิตกกังวลในที่ทำงาน


1. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย

สำหรับคนวัยทำงานที่เป็นโรควิตกกังวลด้วยแล้วนั้น การบอกให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความเครียดคงเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะเรามักจะต้องรับมือกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ในระหว่างการทำงานอยู่ตลอดเวลา ทว่าหากเราเริ่มจัดการตารางชีวิตของตัวเองกันดูสักหน่อย เช่น กำหนดเวลาในการทำงานอย่างเป็นระบบ แล้วจัดตารางการทำงานให้ไม่เคร่งตึงมากเกินไป ก็จะช่วยให้เราจัดการชีวิตในการทำงานแต่ละวันได้ง่ายขึ้น ทำให้เรารู้ตัวว่าเวลาไหนที่เราจะสามารถพักผ่อนได้ และเวลาไหนที่เราจะต้องรับมือกับเรื่องหนัก ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคอยให้ความหวังในการทำงานว่า พอผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ไปแล้ว อีกไม่นานเราก็จะได้เจอกับช่วงเวลาที่เป็นตัวเองได้ อีกทั้งการทำแบบนี้ยังช่วยให้งานของเราออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงลดความกังวลเรื่องคำตำหนิ และข้อถกเถียงต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย


2. เข้าใจตัวเอง และใส่ใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าเราจะพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงมากแค่ไหน แต่บางครั้งโรควิตกกังวลก็ไม่ได้เป็นไปตามการคาดเดาของเราเสมอไป หากเกิดอาการกำเริบขึ้นมาจริง ๆ สิ่งที่ทุกคนต้องทำเป็นอย่างแรกคือการตั้งสติให้มั่น แล้วทำความเข้าใจกับอาการที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดว่ามีอาการอย่างไร เช่น การหายใจเป็นอย่างไร ติดขัดหรือไม่ เหงื่อออกมากกว่าปกติหรือเปล่า กำลังตัวสั่นอยู่ หรือเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพื่อแก้ไขอาการเหล่านี้ไปทีละขั้น และพยายามหาจุดนั่งพักให้เร็วที่สุด


3. บอกเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้

การมีเพื่อน หรือใครสักคนคอยซัพพอร์ตเราเมื่ออาการของโรควิตกกังวลกำเริบขึ้น จะช่วยให้เราจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นมาก กล่าวคือ เมื่อเรารู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะอาการกำเริบขึ้น เราก็ควรจะปรึกษากับเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมบอกวิธีการที่เขาพอจะช่วยเหลือเราได้ในระหว่างที่เกิดอาการเหล่านี้ เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเหลือเราได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดอาการ


4. หมั่นให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ

การให้กำลังใจตัวเอง และปลอบประโลมตัวเองจากภายใน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรับมือกับโรควิตกกังวลในที่ทำงาน เพราะจะทำให้จิตใจของเราสงบมากขึ้น ลดความเครียดลง และสามารถทำให้เรามีความสุขกับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งทุกคนอาจจะเริ่มต้นจากการเอ่ยชมตัวเองในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำ เช่น วันนี้แต่งตัวได้ดีมาก หรือวันนี้ทรงผมสวยดี ไปจนถึงเรื่องของการทำงานที่เสร็จได้ทันเวลา ก็สามารถชมเชย เพื่อให้กำลังใจตัวเองได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาบอกเราก่อน


5. มองโลกในแง่บวก และสร้างบรรยากาศที่ดีในการใช้ชีวิตเสมอ

สำหรับวิธีการรับมือกับโรควิตกกังวลข้อนี้ ก็จะคล้ายกับข้อที่ 4 อยู่บ้าง แต่เป็นการปรับการมองโลก และสถานการณ์ต่าง ๆ ในเชิงบวกเอาไว้ก่อน ซึ่งการมองโลกในแง่ดี หรือจะบอกว่าเป็นการมองโลกในแง่ที่เข้าข้างตัวเองไว้ก่อน ก็ถือว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราพาตัวเองออกห่างจากปัญหาได้ กล่าวคือ ถ้าเราคิดว่าอะไร ๆ ก็จะออกมาดีเสมอ ก็จะช่วยให้เราไม่รู้สึกเครียด หรือกังวลไปก่อน ซึ่งความคิดแบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการต้องเผชิญหน้ากับโรควิตกกังวลได้เยอะมาก ๆ และที่สำคัญยังช่วยให้เรามีความสดใสมากขึ้น กล้าคิด กล้าทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จึงเป็นผลดีต่อร่างกายของตัวเองด้วย


ทั้งหมดนี้คือ 5 วิธีการเบื้องต้นที่จะช่วยรับมือกับโรควิตกกังวลในที่ทำงานได้ ซึ่งถ้าทุกคนลองปฏิบัติตามนี้ ก็จะช่วยให้บรรยากาศต่าง ๆ รวมถึงอาการของโรคมีแนวโน้มที่จะกำเริบได้น้อยลง อย่างไรก็ตามการปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจิตแพทย์จะช่วยรักษาอาการ และประเมินอาการของเราได้อย่างแม่นยำมากที่สุด ทำให้เราสามารถหายขาดจากโรคนี้ได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องอาการกำเริบอีก


ที่ THE OASIS คลินิกจิตเวช พร้อมรับฟังปัญหา และบริการวางแผนการรักษาโรคซึมเศร้า โรคแพนิค โรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โดยจิตแพทย์ หมอจิตเวช นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ยินดีให้บริการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ พร้อมรับฟังปัญหา และวางแผนการรักษา บำบัดด้วยศิลปะเพื่อเพิ่มสมาธิให้กับจิตใจ และทำให้คุณได้ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ในชีวิตมากขึ้น ผู้รับบริการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในภาวะโรค และมีบทบาทในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งในส่วนการรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด บริการดูแลครอบคลุมทั้งบริการทางจิตเวชทั่วไปในเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีการตรวจประเมินสุขภาพจิตอย่างละเอียด ทั้งด้านการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ระบบประสาท และประเมินศักยภาพสมอง สามารถให้คำปรึกษาในกลุ่มอาการหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของท่าน หรือคนที่ท่านรัก


The Oasis คลินิกจิตเวช บริการวางแผนรักษาโรคทางจิตเวช

โดยจิตแพทย์ หมอจิตเวช และนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ อาการแพนิค อารมณ์สองขั้ว ย้ำคิดย้ำทำ และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ








ดู 955 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page