เมื่อแฟนนอกใจ จะไปต่อหรือพอแค่นี้
- อรทิพ นิมกาญจน์นนท์
- 5 วันที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที

คงเป็นเหมือนฝันร้ายเมื่อวันนึงเรารู้ว่าแฟนนอกใจไปมีคนอื่น ความสัมพันธ์จะไปต่อยังไงหรือจะไปต่อได้ไหม ถ้าไปต่อหน้าตาจะเป็นอย่างไร เราจะอภัยให้เขาได้หรือไม่ เกิดอะไรขึ้นนะ เราไม่ดียังไง พลาดตรงไหน หลากหลายคำถามที่ผุดขึ้นมาและต้องการคำตอบอย่างด่วนๆ
การนอกใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนมากกว่าการหาว่าใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูก ใครเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ใครจะอยู่หรือใครจะไป และที่แน่ๆ คือการ move on ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ บางคนอาจคิดว่าก็แค่บอกเลิก ก็ถือว่า move on แล้ว จริงอยู่การบอกเลิกคือการตัดความสัมพันธ์ออกไป แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ยากที่จะตัดออกไปได้ การ move on แบบบอกเลิกจึงไม่ใช่การ move on ที่แท้จริง
ความรู้สึกของฝ่ายที่โดนนอกใจ
ฝ่ายที่ถูกนอกใจจะมีความรู้สึกที่เจ็บปวดคล้ายๆ กับการได้รับบาดแผลทางใจอย่างเฉียบพลันและรุนแรง (trauma) เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจ เชื่อใจและความผูกมัด (commitment) ได้พังลงไปต่อหน้า เกิดเป็นความสับสนมาแทนที่ว่าแฟนคนนี้ที่จริงแล้วคือใครกันแน่ ความรู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์ก็รู้สึกไม่มั่นคงอีกต่อไป อะไรที่เคยไว้ใจก็ไม่ไว้ใจอีกต่อไป ภาพที่เคยมีเกี่ยวกับแฟนที่เราคิดว่ารู้จักดีที่สุด ที่รักและให้ความสำคัญกับเราที่สุดได้สูญสิ้นไปแบบที่กู่ไม่กลับเลยทีเดียว
ความโกรธจะมีรูปแบบที่รุนแรงและทำลายล้าง (destructive) ตามมาด้วยความรู้สึกเสียใจ เจ็บใจ จากการถูกทรยศหักหลัง (betrayal trauma) เพราะการนอกใจมีเรื่องของการโกหก หลอกลวง ปกปิดเป็นความลับ ความไม่ซื่อสัตย์ เป็นการละเมิดสัญญาทางใจที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน ซึ่งโดยความหมายของความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวหรือแบบที่มีคู่รักคนเดียว (monogamy) การตกลงร่วมกันแปลว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะซื่อสัตย์ จงรักภักดีและผูกมัดต่อกันและกัน การนอกใจหรือมีความสัมพันธ์กับมือที่สามจึงเป็นการละเมิดสัญญาทางใจนี้ แปลว่าสิ่งที่เคยเข้าใจว่าอีกฝ่ายตกลงร่วมกันไว้ไม่เป็นจริงอีกต่อไป
ฝ่ายที่โดนนอกใจอาจมีอาการคล้ายกับคนที่มีความเครียดจากภาวะสะเทือนใจรุนแรง (PTSD) เช่นนอนไม่หลับ ฝันร้าย ปวดหัว หมกมุ่นกับการค้นหาความจริง ไวต่อสัญญานเตือนต่างๆ (hypervigilant) เสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่แน่ใจการประเมินสถานการณ์หรือความรู้สึกของตัวเอง สงสัยว่าคิดไปเองรึเปล่า สงสัยตัวเองว่าทำอะไรผิด ไม่ดีพอ เกิดความไม่มั่นใจว่าความเป็นจริง (reality) คืออะไร ตลอดจนอัตลักษณ์ของตัวเอง (identity) เกิดการเปรียบเทียบ รูปร่างหน้าตา การตอบสนองทางเพศไม่ดีเท่าอีกคน เป็นคนที่โดนแทนที่และแทนความสำคัญ ซึ่งเป็นภาวะที่เจ็บปวดทรมาณมากๆ
ความรู้สึกของฝ่ายที่นอกใจ
ฝ่ายที่เป็นคนนอกใจอาจรู้สึกโล่งใจที่ความลับได้ถูกเปิดเผยแล้ว ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป ในกรณีที่จะยุติความสัมพันธ์กับมือที่สาม จะมีความรู้สึกโศกเศร้า (grief) ที่เกิดการสูญเสียความสัมพันธ์กับมือที่สามไป และอาจมีความรู้สึกเสียใจ และรู้สึกผิดต่อแฟนของตัวเอง เพราะได้ทำร้ายจิตใจเขาด้วยการนอกใจ
เมื่อความลับถูกเปิดเผย สิ่งที่ตามมาคือซากปรักหักพังของความสัมพันธ์ที่เพิ่งพังลง ในขณะที่ฝ่ายถูกนอกใจอยากรู้รายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับมือที่สาม ฝ่ายที่เป็นคนนอกใจมักจะอยากรีบๆ ตัดจบแล้ว move on โดยไม่พูดถึงมัน (มันจบแล้ว จะรื้อฟื้นขึ้นมาทำไมอีก) จึงทำให้เกิดภาวะแตกหัก ติดขัด จูนหรือต่อไม่ติด เป็นที่มาของการหาตัวช่วยหรือเข้าสู่กระบวนการทำจิตบำบัดสำหรับคู่รัก (couple therapy)
เพราะอะไรถึงนอกใจ
เราอาจเคยได้ยินคำเปรียบเปรยว่าความรักทำให้เราตาบอด ซึ่งตาบอดที่ว่านี้หมายถึงการมองข้ามหรือมองไม่เห็นข้อเสียของอีกฝ่าย ตลอดจนปัญหาต่างๆ ในความสัมพันธ์ เหมือนตกอยู่ในภวังค์หรือภาวะคล้ายๆ ความฝัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เราเรียกว่าช่วงฮันนีมูนหรือช่วงโปรโมชั่น ซึ่งสำหรับบางคู่ช่วงฮันนิมูนอาจยืดเยื้อยาวนานเกินความเป็นจริง เนื่องจากมีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่หลีกเลี่ยงความเป็นตัวของตัวเองในความสัมพันธ์ จึงทำให้เกิดการฝืนตัวเองพยายามเป็นคนที่เราคิดว่าแฟนอยากให้เป็น ซึ่งลักษณะนี้รวมถึงการหลีกเลี่ยงปัญหาหรือการเห็นต่างที่จะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง เพื่อให้ความสัมพันธ์ไม่เกิดการสั่นคลอน (rock the boat)
อย่างไรก็ตามเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายฝืนตัวเองเพื่ออยู่ในความสัมพันธ์ แปลว่าปัญหาหรือความไม่พอใจต่างๆ ก็ถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับการเอาขึ้นมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน บางคู่อาจไม่มีทักษะในการสื่อสารเพียงพอที่จะรับฟังและปรับความเข้าใจ เวลาเกิดความขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจกัน จึงเป็นที่มาของการฝืนทนหรือเก็บกดความรู้สึกอัดอั้นหรือไม่สบายใจเอาไว้ ยิ่งหากแฟนเป็นคนที่มักหงุดหงิด โกรธหรือโมโหไว การนำความคับข้องใจขึ้นมาพูดยิ่งทำได้ยากมาก จึงเป็นที่มาของการหาทางออกด้วยการเริ่มสานสัมพันธ์กับคนอื่นที่อาจเติมเต็มความต้องการ (needs) ที่ไม่สามารถได้รับในความสัมพันธ์กับแฟนได้
การนอกใจคือการถูกเขย่าให้ตื่นจากภวังค์ (wake-up call)
เมื่อความสัมพันธ์เกิดการนอกใจจึงเป็นเหมือนการถูกเขย่า (อย่างแรง) ให้ตื่นจากภวังค์ หมายความว่าความสัมพันธ์นี้่จริงๆ แล้วมีความไม่เข้าใจกัน หรือมีปัญหาบางอย่างอยู่ลึกๆ แบบเรื้อรังยาวนาน แต่ทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะเห็นปัญหา หรือถ้าเห็นก็หลีกเลี่ยงหรือไม่สามารถจะปรับความเข้าใจหรือแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ได้ จนเป็นที่มาของการแอบ “แก้ปัญหา” ด้วยการไปมีบุคคลที่สามเพื่อตอบสนองสิ่งที่ไม่สามารถได้รับจากความสัมพันธ์ของตัวเอง
เมื่อความลับได้ถูกเปิดเผยขึ้นจาก wake-up call ความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายเคยรู้จักหรือสร้างมาด้วยกันได้สิ้นสุดลงแล้ว เกิดเป็นภาวะสั่นคลอนอย่างรุนแรงที่เปรียบเสมือนกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ทุกอย่างที่เคยรู้จักในตัวแฟนหรือในความสัมพันธ์ได้พังทลายลงแทบจะเป็นศูนย์ (ground zero) รอวันที่จะค่อยๆ ประติดประต่อ สานสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หรือหากไม่มีเยื่อใยความรักความใส่ใจต่อกันแล้ว ก็เป็นการสิ้นสุดแบบที่่ไม่สามารถซ่อมแซมหรือสานสัมพันธ์อะไรต่อได้ ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการจากลาและเศร้าโศก (grief)
การปรับความเข้าใจเป็นไปได้จากการทำจิตบำบัดคู่รัก
หากทั้งสองฝ่ายยังหลงเหลือความรักและความใส่ใจต่อกัน การปรับความเข้าใจมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงแม้จะต้องใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นสูงมากในการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น การปรับความเข้าใจและซ่อมแซมความสัมพันธ์จากการนอกใจมีกระบวนการที่เป็นไปตามขั้นตอน ฝ่ายที่นอกใจมีบทบาทสำคัญมากในการเป็นทั้งผู้ร้ายและผู้ช่วยเหลือ (villain and hero) โดยเฉพาะในช่วงแรกของการทำจิตบำบัด หรือที่เรียกว่าช่วงที่อาการรุนแรงฉับพลัน (acute phase) ซึ่งจะเน้นการระบายและรับมือกับความรู้สึกต่างๆ สิ่งที่นักจิตบำบัดช่วยในช่วงนี้คือให้ฝ่ายที่นอกใจเกิดการรับรู้ ยอมรับและรับฟังความเจ็บปวด ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของฝ่ายโดนนอกใจ ทั้งนี้ ไม่ใช่การพยายามอธิบายว่าที่ทำไปเป็นเพราะอะไร ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ตัดสินใจไปมีความสัมพันธ์ซ้อน หรือบอกว่ามันไม่มีความหมายอะไร แต่เป็นการตอบคำถามทุกคำถามอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สอดคล้องในเนื้อหา ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้ความรู้สึกไม่ไว้ใจกลับมาเป็นประเด็นซ้ำๆ ทำให้การปรับความเข้าใจยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น
การกลับไปพูดถึงอดีตช่วยอย่างไร
ในขณะเดียวกัน บทบาทของนักจิตบำบัดต่อฝ่ายที่โดนนอกใจในช่วงแรกนี้ คือช่วยสร้างความปลอดภัยในการระบายความรู้สึกและซักถามข้อมูลจากอีกฝ่าย การค้นหาความจริงในระยะนี้ช่วยให้ฝ่ายที่โดนนอกใจ เชื่อมโยงความเข้าใจของตัวเองเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่สองเรื่องหรือสองเวอร์ชั่น คือเวอร์ชั่นที่ตัวเองเข้าใจว่าเป็นจริง กับเวอร์ชั่นที่โดนปกปิดเป็นความลับ เช่นวันปีใหม่ฝ่ายที่นอกใจบอกว่าต้องทำงานดึกเพราะเป็นช่วงที่มีงานเข้ามาเยอะมาก แต่มารู้ทีหลังว่าจริงๆ แล้วคือการแอบไปหามือที่สามเพื่อใช้เวลาด้วยกันในคืนวันปีใหม่ เมื่อมารู้ความจริง (เวอร์ชั่นที่สอง) ความรู้สึกต่างๆ จะผุดขึ้นมา ทั้งโกรธ เศร้า เสียใจ ผิดหวัง เจ็บปวด นักจิตบำบัดและฝ่ายที่นอกใจจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยประคับประคองความรู้สึกที่รุนแรงเหล่านี้
เมื่อผ่านพ้นช่วงแรกไป กระบวนการจิตบำบัดจะเข้าสู่ช่วงที่สองคือการปรับความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาบนรากฐานใหม่ หมายความว่าการประติดประต่อเรื่องราวจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากการสืบค้นความจริง (detective) เป็นการสอบถามเรื่องราว (investigate) เพื่อทำความเข้าใจตัวตนของแฟนขึ้นมาใหม่ ตลอดจนปรับความเข้าใจของตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นปัญหาในความสัมพันธ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้และปรับเปลี่ยนได้ การโทษหรือเปรียบเทียบตัวเองจะเริ่มมีน้อยลง
การทำงานกับความสัมพันธ์ที่มีเรื่องของการนอกใจเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และเต็มไปด้วยหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่มีการนอกใจไม่ได้แปลว่าต้องจบหรือมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฝืนทนต่อไป หากมีการปรับความเข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอนย่อมมีทางที่จะไปต่อได้อย่างราบรื่น
Comments