top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

อารมณ์กับร่างกายสัมพันธ์กันอย่างไร

อัปเดตเมื่อ 8 ก.พ. 2564


ร่างกายและจิตใจของเรานั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด


ร่างกายตอบสนองโดยตรงต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้สึกตื่นเต้นดีใจ ร่างกายจะตื่นตัว ตัวเบา อยากจะเคลื่อนไหว ไม่ค่อยอยู่นิ่ง หัวใจเต้นรัว นอนไม่หลับ หรือ เมื่อเรารู้สึกโกรธ เราจะรู้สึกร้อนที่ใบหน้า ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว มือสั่น หรือ เมื่อเรารู้สึกเศร้าเสียใจ เรามักรู้สึกว่าร่างกายไม่มีแรง เหนื่อย หนัก ล้า อยากจะจมลงบนโซฟาหรือที่นอน มากกว่าจะลุกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น


บ่อยครั้งที่เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเรา คืออารมณ์ความรู้สึกใดกันแน่ จึงทำให้เราไม่รู้ว่าจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีใด เช่น เราไม่แน่ใจว่าการที่อยู่ๆหัวใจก็เต้นเร็ว หายใจไม่สะดวก และยังมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย นั่นคืออาการของโรคหัวใจ หรือแท้จริงแล้ว เกิดจากความไม่สบายใจ ความกังวล ความกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่หรือเปล่า


ในโลกยุคปัจจุบัน เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร และการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเชื่อมต่อกับโลกภายในของเราลดลง เรามีเวลาอยู่กับตัวเองน้อยลง หรือถึงอยู่คนเดียว ก็ยังมีบ่อยครั้งที่เราก็ยังให้ความสนใจกับความเป็นไปของโลกและผู้คนรอบตัว มากกว่าที่จะฟังหรือสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจของเรา ทั้งๆที่การสังเกตปฏิกิริยาต่างๆที่เกิดขึ้นกับร่างกายนี้เอง ที่จะช่วยพัฒนาการตระหนักรู้ร่างกาย(Body Awareness) อันจะเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจสภาวะอารมณ์จิตใจของตัวเองได้ดีขึ้น พัฒนาต่อไปเป็นความสามารถในการตระหนักรู้ด้านอารมณ์ (Emotional Awareness) ซึ่งความตระหนักรู้ในอารมณ์ของตนเองนั้นเอง ที่จะช่วยให้เรา เกิดความเข้าใจตนเองได้มากขึ้น จัดการอารมณ์(Emotional Regulation) ได้ดีขึ้น และแน่นอนเมื่อเราจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น ร่างกายก็จะรู้สึกได้ถึงความสงบ ผ่อนคลาย และสบายมากขึ้นเช่นกัน


ลองใช้เวลาช่วงสั้นๆของวันสัก 5-10 นาที อยู่กับตนเองอย่างสงบ ด้วยการอยู่ในท่าที่สบาย ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งหรือท่านอนก็ได้ และหายใจเข้าออกอย่างมีสติ รู้สึกตัวถึงแต่ละลมหายใจ สำรวจร่างกายแต่ละส่วน รับฟังร่างกายว่า ส่วนไหนรู้สึกอย่างไร มีความไม่สบายตัว ปวด หรือเจ็บที่ส่วนใดเกิดขึ้นหรือไม่ โดยไม่ต้องพยายามตัดสินหรือรีบด่วนที่จะทำให้อาการไม่สบายเหล่านั้นหายไป เพียงแต่ตระหนักรู้และรับฟังเสียงจากภายในของเรา ก็เป็นการเริ่มต้นการดูแลตัวเองที่ดีแล้ว


และที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจเรื่องพื้นฐาน เช่น การรับประทานอาหาร การพักผ่อน นอนหลับ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงใส่ใจต่อความรู้สึก และความต้องการของตนเอง หากมีปัญหาที่หนักเกินกว่าจะรับมือ สามารถพูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือปรึกษาแพทย์ หรือนักจิตบำบัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพใจของตนเองได้


อ้างอิงจาก

  1. Mind/Body Connection : How your emotions affect your health. https://familydoctor.org/mindbody-connection-how-your-emotions-affect-your-health/

  2. Jeffrey Traister, What emotions affect different organs in the human body https://howtoadult.com/what-emotions-affect-different-organs-in-the-human-body-4722639.html


ดู 520 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page